“เชิดชัย” เชื่อชุมนุม กวป.ขับไล่ตุลาการศาล รธน.ทำได้ยาก หากตุลาการไม่ลาออกก็จบ หวั่นชุมนุมยืดเยื้อทำ ปชช.เดือดร้อน ส่งผลเสียมาถึงรัฐบาล จวกแกนนำอาจรับเงินใครมาชุมนุม รับเคยขึ้นเวทีชุมนุมแต่เลิกแล้ว ด้าน “ชายจืด” นัดแกนนำ รบ.-ส.ว.ถกแก้ รธน.พุธนี้
รายงานข่าวจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเมืองพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า วันที่ 7 พ.ค. ที่ทำการพรรคเพื่อไทย คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งประกอบไปด้วยแกนนำพรรค เช่น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, นายภูมิธรรม เวชยชัย, นายนพดล ปัทมะ เป็นต้น ได้ร่วมหารือถึงสถานการณ์การเมือง โดยเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มสื่อวิทยุชุมชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ที่ปักหลักชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการวิเคราะห์ไปถึงมวลชนจากกลุ่มไหน ได้รับการสนับสนุนจากใคร แม้ความเห็นที่ประชุมส่วนใหญ่มองว่ามีสิทธิชุมนุม การแสดงออกเชิงวิชาการหลักแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ไม่ควรก้าวก่ายซึ่งกันและกันตรงกับแนวทางพรรค แต่การแสดงออกบางเรื่องที่รุนแรงไปโดยเฉพาะขู่กระทำการบางอย่างกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แกนนำบางคนไม่เห็นด้วย แต่เพื่อรักษาไมตรี กวป.ที่ถือเป็นแนวร่วมของพรรค พรรคอาจจะไม่เห็นด้วยทุกเรื่องก็ไม่ถึงกับห้ามปราม
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.กล่าวถึงการระดมผู้ชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่ม กวป.ในวันที่ 8 พ.ค.ว่า เป็นสิทธิของกลุ่มผู้ชุมนุม ถ้าจะว่ากันจริงๆ ชุมนุมกันยังไง หรือล่ารายชื่อให้ครบ 1 ล้านรายชื่อ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ออกอยู่ดี จะออกได้ด้วยการลาออกของเขาเอง เพราะฉะนั้นจะชุมนุมก็ชุมนุมไปแต่ดูข้อเท็จจริงแล้วมันเป็นไปไม่ได้ เราควรให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนด้วย ความจริง กวป.ควรยุติชุมนุมตั้งแต่ ส.ส.เพื่อไทย และส.ว.312 คน มีท่าทีไม่รับอำนาจศาลแล้ว อยากให้แกนนำชุมนุมนึกถึงเรื่องนี้ด้วย เพราะการชุมนุมแต่ละครั้งประชาชนเดือดร้อน มีค่าใช้จ่าย ดีไม่ดีลามมาถึง ส.ส.ด้วยถ้าเขามาขอตังค์ แต่ถึงอย่างไรพวกเราก็ไม่เกี่ยวอยู่แล้ว
“การที่บอกจะระดมคนใหญ่วันที่ 8 พ.ค. ว่ากันจริงๆ ทำได้ยาก หาก ส.ส.หรือ นปช.ไม่ช่วย ชุมนุมหลายวันเสื้อแดงที่มาเดือดร้อน แดงใน กทม.ไม่มีปัญหา แต่แดงที่มาต่างจังหวัดเดือดร้อน มาแล้วไม่ได้อะไร หากจะมาเที่ยวก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้ามาแล้วให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่เห็นด้วย ชุมนุมครั้งนี้ไม่เหมือนกับที่ นปช.เคยชุมนุมไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ให้ยุบสภา อันนั้นมันมีมิติการเมือง แต่การชุมนุมนี้มันอีกเรื่องหนึ่งคนละสาเหตุ ถ้าชุมนุมหอมปากหอมคอให้ศาลได้ละอาย ให้ประชาชนได้รู้ข้อมูลบ้างก็น่าจะพอแล้ว ที่ห่วงคือชุมนุมแล้วมีคนทำให้เกิดความเดือดร้อน ใครจะรับผิดชอบ เกิดเรื่องมาเดี๋ยวมาโบ้ยรัฐบาล ถ้าเป็นอย่างนั้น ตกลงมาเชียร์รัฐบาลหรือทำลายรัฐบาลกันแน่” นพ.เชิดชัยกล่าว
นพ.เชิดชัยกล่าวอีกว่า การชุมนุมควรเลิกได้แล้ว หากมองในแง่ร้ายที่ไม่เลิกเป็นเพราะแกนนำไปรับอะไรของใครมาหรือไม่ แต่ก็ไม่อยากพูด เพราะไม่รู้เจตนาจริงๆ ของเขาคืออะไร แต่ถ้ายืดเยื้อยังไม่จบก็พอเห็นเจตนาบ้าง ยอมรับว่าตอนการชุมนุม 3 วันแรกไปเยี่ยมผู้ชุมนุม ขึ้นเวทีบ้าง ด้วยความเป็นห่วง แต่พักหลังไม่ได้ไปแล้ว กลัวถูกมองไปติดกับพรรคเพื่อไทย รัฐบาล ก็ต้องระมัดระวังตัว ทั้งที่เราไม่ได้เกี่ยวข้องอยู่แล้ว
ขณะที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ได้นัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล และส.ว.บางส่วนที่ร่วมลงชื่อไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ หารือเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ที่พรรคการพรรคเพื่อไทย วันที่ 8 พ.ค.เวลา 11.00 น.