xs
xsm
sm
md
lg

ครม.หนุนปฏิรูปที่ดินอ่างทอง “ยุคล” ถกเกษตรจีนฉลุย-สั่งใช้พจนานุกรมราชบัณฑิต 54

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
“หมวดเจี๊ยบ” เผยผล ครม.อนุมัติหลักการกำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน 4 ตำบล อ่างทอง ช่วยเกษตกรตามนโยบาย รบ. รมว.เกษตรฯ แจงผลประชุมโต๊ะกลมการเกษตรจีน เผยเห็นด้วยดูงานที่ไทย เหตุเตรียมปรับจากระบบคอมมูนเป็นสหกรณ์เพื่อการซื้อขายอนาคต พร้อมหนุนเป้าหมายครัวโลกตามนโยบายนายกฯ และแนวทางพระราชดำริ เห็นชอบใช้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 54 สำหรับ ขรก. ชี้แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว และเฉลิมพระเกียรติในหลวง

วันนี้ (30 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ 4 ตำบลของอำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ประกอบด้วย ตำบลชะไว, ตำบลหลักฟ้า และตำบลจรเข้ร้อง เนื่องจากมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ให้อำนาจสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. จัดซื้อที่ดินได้เฉพาะที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเท่านั้น แต่ปรากฏว่าที่ดินที่ ส.ป.ก. จะจัดซื้อในจังหวัดอ่างทอง อยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. จึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชกฎษฎีกาฯ ดังกล่าวเพื่อให้มีอำนาจจัดซื้อที่ดิน และต้องเร่งดำเนินการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อให้เสร็จทันตามแผนที่ได้กำหนดไว้ เพื่อแก้ปัญหาผู้เสนอขายที่ดินเปลี่ยนใจไม่ขายที่ดินให้ ส.ป.ก. ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินเพียงพอแก่การเลี้ยงชีพ โดยการให้สิทธิเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินได้เช่า หรือเช่าซื้อที่ดินเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการโครงการและการเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ (อกก.คง.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 เห็นชอบและอนุมัติหลักการ วงเงินการจัดซื้อที่ดิน ในท้องที่จังหวัดอ่างทอง จำนวน 77 แปลง เนื้อที่ประมาณ 621 ไร่ ราคาไร่ละ 128,000 บาท รวมเป็นเงิน 79,546,880 บาท

ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการเดินทางไปราชการของ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมการประชุมโต๊ะกลมด้านการเกษตร ในหัวข้อเรื่อง “Food Security : the Asian Solution” ภายใต้ Boao Forum for Asia Annual Conference 2013 ระหว่างวันที่ 6-8 เม.ย. 56 ที่มณฑลไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีผลการเดินทางโดยสรุปดังนี้ 1. ในด้านความร่วมมือด้านการเกษตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไทยและจีนมีความเห็นร่วมกันถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร และความร่วมมือทางด้านวิชาการ รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างกัน โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาร่วมกันในด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ รวมทั้งการลงทุนจัดตั้งบริษัทในการซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศไทย ตลอดจนความร่วมมือทางด้านสหกรณ์ ซึ่งฝ่ายจีนเห็นด้วยกับข้อเสนอของฝ่ายไทย ที่ได้เชิญฝ่ายจีนมาแลกเปลี่ยนและศึกษาดูงานด้านสหกรณ์ในประเทศไทย เนื่องจากฝายจีนกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบการค้าของกลุ่มเกษตรกรจากระบบคอมมูนในสังคมคอมมิวนิสต์มาเป็นระบบสหกรณ์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำไปสู่การซื้อขายสินค้าระหว่างกันในอนาคต ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย อยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวต่อว่า 2. ในการประชุมโต๊ะกลมด้านการเกษตร ซึ่งมีภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมฟังการประชุมด้วยนั้น นายยุคล ได้อภิปรายให้ที่ประชุมทราบว่าประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรและมีเป้าหมายในการเป็นครัวของโลก ได้มีการปฏิรูปนโยบายด้านการเกษตร โดยกำหนดเขตการผลิตสินค้าเกษตร ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ในแต่ละพื้นที่เพื่อเพิ่มผลผลิต หรือการจัดโซนนิ่ง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของ น.ส ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า รัฐบาลไทยได้ลงทุนในโครงการไทยแลนด์ 2020 ในกรอบวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบการชนส่งเพื่อเชื่อมโยงแหล่งการผลิตสินค้าและแหล่งท่องเที่ยวของไทย กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ นายยุคลยังกล่าวถึงความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศไทยด้วย ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติแสดงความสนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวอีกว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการใช้ตัวสะกด โดยกำหนดให้ใช้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เป็นแบบมาตรฐานสำหรับหน่วยราชการ สถานศึกษาและประชาชนทั่วไป เพื่อใช้เป็นหนังสืออ้างอิงในการเขียนหนังสือไทยให้เป็นระเบียบเดียวกัน โดยพจนานุกรมฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการชำระพจนานุกรม โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำศัพท์ทั่วไป ซึ่งเป็นคำที่มีใช้ในภาษาไทย และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย แต่ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรม รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามของคำศัพท์เฉพาะสาขาวิชา ได้แก่ ศัพท์กฎหมายไทย ศัพท์ประวัติศาสตร์ไทย ศัพท์พรรณพืชและพรรณสัตว์ ศัพท์ดนตรีไทย ศัพท์ดนตรีสากล และราชาศัพท์ ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขานั้นๆ และที่สำคัญได้มีการเก็บคำศัพท์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในการพัฒนาเรื่องดิน น้ำ และป่าไม้ ประกอบด้วยคำว่า กังหันน้ำชัยพัฒนา แกล้งดิน แก้มลิง ทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง โครงการตามพระราชดำริ โครงการตามพระราชประสงค์ โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ โครงการพระดาบส โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โครงการหลวง และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา รวมทั้งเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงห่วงใยการใช้ภาษาไทยของคนไทยในปัจจุบัน

ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวต่อว่า สำหรับความเป็นมาของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นั้น ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นในปี 2554 เนื่องจากเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ซึ่งโครงการจัดพิมพ์พจนานุกรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 23 พ.ย. 2554 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดพิมพ์พจนานุกรมฯ และอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์พจนานุกรมฉบับดังกล่าว เพื่อแจกจ่ายไปยังสถาบันการศึกษา ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ทั้งยังแจกจ่ายให้ สถาบันศาสนา หน่วยงานราชการ ตลอดจนคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และสื่อมวลชน ให้ใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐานของการเขียนหนังสือไทย เพื่อให้เกิดเอกภาพในด้านภาษาอันเป็นวัฒนธรรมและเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติ เพื่อให้หน่วยราชการและสถาบันการศึกษารวมทั้งประชาชนทั่วไปมีแบบมาตรฐานเดียวกัน สำหรับใช้ในการเขียนหนังสือไทย สำหรับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นั้น เป็นฉบับที่ปรับปรุงแก้ไขมาจากพจนานุกรมฯ ฉบับปี 2542 และผ่านการพิจารณาของกรรมการชำระพจนานุกรมที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับคำศัพท์ประเภทต่างๆ จำนวนมาก เช่น นายประเสริฐ ณ นคร นายจำนงค์ ทองประเสริฐ และนางกาญจนา นาคสกุล เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น