‘ราชบัณฑิต’ ตั้งโต๊ะแถลง ลั่นไม่แก้วิธีเขียนคำยืมภาษาอังกฤษ ชี้ ถูกประชาชนรุมโทร.-โพสต์เว็บบอร์ดด่า กว่า 90% คัดค้านแก้
วันนี้ (3 ต.ค.) ที่ราชบัณฑิตยสถานสนามเสือป่า เขตดุสิต กทม. นายปัญญา บริสุทธิ์ นายกราชบัณฑิตยสถาน พร้อมด้วย นายอุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ ราชบัณฑิต ประธานสำนักศิลปกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการเขียนคำที่มาจากต่างประเทศ นางนิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ร่วมแถลงข่าวชี้แจงและยืนยันจะไม่แก้คำศัพท์ที่ยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
นายปัญญา กล่าวว่า นับจากที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการแก้ไขการเขียนคำที่ยืมจากภาษาอังกฤษออกไปนั้น ตอนนี้ประชาชนหลายคนเกิดความกังวล โดยได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามและต่อว่าราชบัณฑิตยสถานจำนวนมาก ดังนั้น ทางราชบัณฑิตยสถานจึงออกมายืนยันอีกครั้งว่าจะไม่มีการแก้ไขตอนนี้ คำยืมที่มาจากภาษาอังกฤษ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่กำลังจัดพิมพ์นั้นยังคงใช้วิธีการเขียนทับศัพท์แบบเดิม
นายอุดม แจงแจกให้ฟังว่า ที่ผ่านมามีการถกเถียงในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการเขียนคำที่มาจากต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องดังกล่าวได้ จนในที่สุดที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ นางกาญจนา นาคสกุล ในฐานะราชบัณฑิต จัดทำแผนสำรวจความเห็นจากคนภายในองค์กร เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการซึ่งขณะนี้เพิ่งเริ่มรับฟังความเห็นต้องรอผลสรุปอีกครั้ง ที่สำคัญ หากท้ายที่สุดเสียงส่วนใหญ่ในองค์กรเห็นด้วยให้แก้ ก็ต้องทำประชาพิจารณ์ความเห็นจากคนภายนอกด้วย เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจจะให้ราชบัณฑิตยสถานตัดสินใจเปลี่ยนแปลงกันเองคงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากท้ายที่สุดผลการประชาพิจารณ์ความเห็นจากคนไทยทั้งประเทศเห็นด้วยให้มีการแก้ไขการเขียนคำยืมตนก็ไม่คัดค้านและพร้อมทำตามมติ
นางนิตยา กล่าวว่า ตนมองว่า การหากจะเปลี่ยนวิธีการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษตามที่คนไทยออกเสียงนั้น ต่อไปนี้คำศัพท์ 1 คำ คงเขียนได้หลายแบบ เพราะคำบางคำอ่านออกเสียงได้หลายแบบแล้วแต่ใครจะอ่านออกเสียงแบบไหน ซึ่งหลักการเดิมราชบัณฑิตยสถานได้ถือหลักการเขียนคำในภาษาต่างประเทศ ตามพระดำริของ พล.ต.พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ก็ดีอยู่แล้ว เพราะยึดตามหลักการการถอนคำโดยที่ไม่มีการเติมวรรณยุกต์ จากนั้นแล้วแต่ว่าใครจะอ่านออกเสียงแบบไหน
น.ส.กนกวลี กล่าวว่า มีประชาชนจำนวนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามทางราชบัณฑิตยสถาน ถึงเรื่องการเปลี่ยนวิธีการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษ รวมทั้งมีการแสดงความเห็นต่างๆ นานา ในเว็บบอร์ดของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ประมวลความเห็นในเบื้องต้น พบว่า เกือบ 90% ไม่เห็นด้วย มองว่า จะเกิดความวุ่นวายและต้องเกิดผลกระทบในวงกว้าง นอกจากนี้ มีบางรายโทรศัพท์มาขู่ว่าถ้าทางราชบัณฑิตยสถาน เปลี่ยนแปลงอย่างคำว่า คลินิก เป็น คลิหนิก ก็จะฟ้องร้องกับศาล เพราะทำให้เกิดความเสียหาย
เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวต่อว่า การแก้ไขคำยืมจากภาษาอังกฤษ ยังถือว่าเป็นเรื่องของอนาคตว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ค่อยว่ากัน แต่ที่ยืนยันได้ว่าจะไม่มีการแก้ไขในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เพราะเป้าหมายของการจัดทำพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกทั้งยังเป็นการน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงห่วงใย และสนพระราชหฤทัยในเรื่องภาษาไทย โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่มใหม่ ทางราชบัณฑิตยสถานมีความพิเศษตรงที่ทางราชบัณฑิตยสถานจะพิมพ์แจกฟรีเป็นครั้งแรกต้นปี 2556 ให้กับห้องสมุด สื่อมวลชน และสถานศึกษา รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ จำนวน 1 แสนเล่ม
น.ส.กนกวลี กล่าวว่า นอกจากนี้ ทางราชบัณฑิตยสถาน ได้นำข้อมูลจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มาปรับแห้เพิ่มเติม โดยเพิ่มนิยามของศัพท์เฉพาะสาขาวิชา อาทิ ศัพท์กฎหมายไทย ศัพท์ประวัติศาสตร์ ศัพท์ดนตรีไทย คำราชาศัพท์ ศัพท์พรรณพืช และพรรณสัตว์ รวมถึงเติมคำที่มีใช้ในภาษาไทย ที่รู้จักกันแพร่หลาย แต่ยังไม่มีในพจนานุกรม เช่น สปา, ตัดต่อ, ตัวสำรอง, เด็ดสะระตี่, ดูดเสียง, ตลาดนัดแรงงาน, ของสูง, ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
“ที่สำคัญ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2554 ยังมีความพิเศษตรงที่จะมีการรวบรวมคำศัพท์ที่เกี่ยวกับโครงการพระราชดำริและคำศัพท์ที่พระองค์ทรงใช้พัฒนาเรื่องดิน น้ำ ป่าไม้ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่น แกล้งดิน, แก้มลิง, กังหันน้ำชัยพัฒนา, ทฤษฎีใหม่, เศรษฐกิจพอเพียง, โครงการพระราชดำริ, โครงการตามพระราชประสงค์, โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์, โครงการพระดาบส, โครงการพัฒนาส่วนพระองค์, โครงการส่วนพระองค์, สวนจิตรลดา, โครงการหลวง, โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น” น.ส.กนกวลี กล่าวทิ้งท้าย