xs
xsm
sm
md
lg

ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำฯ แด่"ในหลวง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวลา 17.30 น.วันนี้ (11 มิ.ย.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นำนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืช ร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ ในพระปรมาภิไธย ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกสิทธิบัตรเลขที่ 29091 ให้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงคิดค้นประดิษฐ์ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืช ร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรน้ำเน่าเสียในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ทรงเห็นว่าปัญหาน้ำเสียเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น จึงพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ด้วยการใช้เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536

ต่อมา ทรงคิดค้นประดิษฐ์เครื่องบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติม โดยมีพระราชดำริให้มีการจัดสร้างเครื่องกลเติมอากาศแบบ RX-5 หรือเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ ซึ่งได้พระราชทานภาพลายฝีพระหัตถ์เครื่องกลเติมอากาศทางโทรสารให้กับกรมชลประทานจัดสร้างเครื่องต้นแบบ และพัฒนาจนประสบความสำเร็จในปี 2542

ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2544 แต่ด้วยเหตุที่เครื่องกลเติมอากาศแบบ RX-5 ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่มีสีเขียว เนื่องจากการเกิดสาหร่ายชั้นต่ำได้ จึงพระราชทานพระราชดำริระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืช ร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา และกรมชลประทาน ร่วมกันทำการวิจัยการใช้เครื่องกลเติมอากาศร่วมกับรางพืช ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ร่วมกับการจัดสร้างรางพืชปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยพืชน้ำที่ใช้ ได้แก่ พุทธรักษา พังพวยน้ำ กก หญ้าพองลม และเตย

มีหลักการทำงานของระบบ คือ เครื่องกลเติมอากาศจะทำหน้าที่ถ่ายเทออกซิเจนลงในน้ำ ทำให้น้ำมีการไหลเวียน และอณูของเสียเกิดการแตกตัว ทำให้พืชดูดซับของเสียได้ดี รางพืชก็จะดูดซับสารอาหารที่ปะปนมากับน้ำ ความต้องแร่ธาตุสารอาหารด้วยการเจริญเติบโตของพืช เมื่อทำการสังเคราะห์แสงแล้ว พืชจะแยกอาหารจากสาหร่ายชั้นต่ำ สีของน้ำจะค่อยๆ ใสขึ้น ความหนาแน่นของต้นพืชจะมีผลต่อการกรองของเสียที่ปนมากับน้ำ จุลินทรีย์ในน้ำจะเกาะรากพืชและหน่อของพืช จะสามารถยุ่ยสลายของเสีย โดยกำหนดให้น้ำเสียถูกส่งเข้ารางพืช เพื่อระบบแรงโน้มถ่วง หรือสูบน้ำด้วย เครื่องสูบน้ำจะต้องมีทางให้น้ำที่ผ่านรางพืชกลับลงสู่แหล่งน้ำต่อไป ส่งผลให้น้ำค่อยๆ ใสขึ้น เนื่องจากสาหร่ายชั้นต่ำค่อยๆ ลดลง

ผลงานสิ่งประดิษฐ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แสดงถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในด้านการประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชน โดยระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืช ร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ ช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมและธรรมชาติให้มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้ประชาชนชาวไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น