xs
xsm
sm
md
lg

ดาหน้าขย่ม “ศาลรธน.” กฎหมู่ทักษิณป่วนเมือง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ปฏิเสธความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันไม่พ้น กับขบวนการข่มขู่-ทำลายความน่าเชื่อถือการทำหน้าที่ของ

“ศาลรัฐธรรมนูญ”

ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ของกลุ่มเครือข่ายที่เห็นได้เลยว่า มีความเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย-ทักษิณ ชินวัตรและคนเสื้อแดง ที่มุ่งหวังทำลายองค์กรอิสระอย่างศาลรธน.ไม่ให้ออกฤทธิ์ออกเดชกับรัฐบาลเพื่อไทยมากเกินความจำเป็น

ไม่ว่าจะเป็นกรณีเรืองไกร ลีกิจวัฒนะอดีตสว.สรรหา ที่แนบชิดกับเครือข่ายคนเสื้อแดงได้ไปยื่นเรื่องต่อนิคม ไวยรัชพาณิช ประธานวุฒิสภาเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาเพื่อตรวจสอบการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีการกระทำที่ขัดต่อข้อกฎหมายหรือไม่ในกระบวนการคัดเลือกนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ

หรือจะเป็นกรณี วรพล พรหมมิกบุตรอาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เปิดตัวเคลื่อนไหวชัดเจนกับคนเสื้อแดงมาตลอดหลายปี ไปแจ้งความที่กองปราบปรามเมื่อ 23 เมษายน 2556 เพื่อให้ดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกรณีใช้อำนาจวินิจฉัยคำร้องคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอัยการสูงสุดจึงเห็นว่าอาจเข้าข่ายกระทำการหรือ ละเว้นกระทำการอันถือว่าละทิ้งงานหรือกระทำการอย่างใดเพื่อให้งานหยุดชะงัก หรือเสียหายโดยรวม ซึ่งอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา166

และ23 เม.ย.วันเดียวกัน พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่เป็นพวกนปช.สายใต้ ก็เดินทางไปที่สำนักงานป.ป.ช.เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการดำเนินคดีอาญากรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐคือนายวสันต์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กระทำผิดต่อหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมหลังก่อนหน้านี้เมื่อต.ค.55 พ.ต.ต.เสงี่ยมเคย ร้องทุกข์กล่าวโทษพนังงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ให้ดำเนินคดีอาญาต่อ นายวสันต์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้องได้ส่งคำร้องทุกข์กล่าวโทษดังกล่าวไปที่ ป.ป.ช.

ขณะที่ในซีกการเมือง พวกส.ส.เพื่อไทยและสมาชิกวุฒิสภา ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งเป็นชนวนปัญหาเรื่องนี้เพราะมติเสียงข้างมากของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องคดีที่สมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหาได้ยื่นเรื่องให้ศาลรธน.วินิจฉัยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการเรื่องพิทักษ์รัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล-สว.รวม 312 คนเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเข้าข่ายกระทำการที่ส่อไปในทางกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่

พวกนี้ก็เตรียมเคลื่อนไหวล่ารายชื่อส.ส.-ส.ว.เพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 3 คน ที่ลงมติให้รับคำร้องคดีของสมชาย แสวงการไว้พิจารณาคือ จรัญ ภักดีธนากุล-สุพจน์ ไข่มุกด์-จรูญ อินทจาร ที่ต้องยื่นผ่านประธานวุฒิสภาเพื่อส่งไปยังคณะกรรมการป.ป.ช.อีกทอดหนึ่ง และหากป.ป.ช.มีมติชี้มูลว่าตุลาการศาลรธน.ทำผิดตามคำร้องยื่นถอดถอนจริง ก็ต้องส่งเรื่องกลับมาที่วุฒิสภา ลงมติถอดถอนต่อไป

ตามข่าวบอกว่า พรรคเพื่อไทย วางแผนปล่อยให้การล่าชื่อดังกล่าวทำกันไปเองในนามส.ส. ทางพรรคเพื่อไทยจะไม่รับหน้าเป็นเจ้าภาพ เพื่อกันตัวเองออกมาจากกระบวนการนี้ จะได้ไม่ถูกมองว่าพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรหาเรื่องทะเลาะกับองค์กรอิสระอย่างศาลรธน.

และมีข่าวว่าการล่ารายชื่อส.ส.เพื่อถอดถอนตุลาการฯ เริ่มทำกันตั้งแต่เมื่อวันประชุมสภาฯนัดสุดท้าย 18 เมษายนแล้ว แต่กระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากก็มีผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยบางส่วนก็พยายามเบรคไว้อยู่ เพราะยังต้องการเวลาอีกสักระยะเพื่อดูท่าทีของศาลรธน.ก่อนว่าจะมีท่าทีการพิจารณาคดีแก้ไขรธน.อย่างไร แต่ส.ส.จำนวนมากในเพื่อไทยไม่เห็นด้วยที่จะหยุดเรื่องนี้ ต่างก็อยากจะลุยศาลรธน.กันให้มันสุดๆไปเลย ทำให้การถอดถอนตุลาการศาลรธน.คาดว่าต้นเดือนพ.ค.น่าจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวเรื่องที่จะมีการยื่นเรื่องถอดถอนตุลาการศาลรธน.ดังกล่าว ก็เป็นแค่การเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์เพื่อต้องการเตือนศาลรธน.ของพวกนักการเมืองเท่านั้น ฝ่ายที่ทำคงไม่หวังผลจริงจังมากนัก

เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลามาก กว่าจะส่งเรื่องไปป.ป.ช. หากป.ป.ช.รับเรื่องไว้สอบสวน ก็ต้องมาตั้งอนุกรรมการไต่สวน แล้วกว่าอนุกรรมการไต่สวนจะสอบสวนเสร็จแล้วส่งกลับมาวุฒิสภาอีกครั้ง ดูแล้วแค่ขั้นตอนในชั้นป.ป.ช.ก็กินเวลาเกินหนึ่งปีแน่นอน แถมขั้นตอนการถอดถอนที่ต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของวุฒิสภาลงมติถอดถอน ก็เป็นเรื่องยากที่จะสำเร็จ กว่าจะไปถึงขั้นตอนถอดถอน คดีในชั้นศาลรธน.ก็สิ้นกระแสความไปนานแล้ว

ฝ่ายเพื่อไทยกับส.ว.ที่จะทำเรื่องการถอดถอนตุลาการฯจึงไม่ได้หวังผลอะไร นอกจากหวังเคลื่อนเรื่องการขย่มศาลรธน.ที่แม้จะทำกันหลายกลุ่มหลายวิธีการแต่เป้าหมายเดียวกันคือ

“ขย่มศาลรัฐธรรมนูญ”ให้แบนติดดิน

แต่ที่จะทำแน่นอนก็คือ หนังสือเปิดผนึกส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะลงชื่อโดยส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล-ส.ว.ที่เคยร่วมกันลงชื่อแก้ไขรธน.มาตรา 68 เพื่อแสดงท่าทีไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาคดีแก้ไขรธน.โดยอ้างเหตุว่าเป็นการก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติ ทั้งที่มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ระบุชัดว่าให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผนวกกับก่อนหน้านี้ศาลรธน.ก็มีคำวินิจฉัยเมื่อ 13 ก.ค. 55 ในเชิงแนะนำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรทำแบบแก้รายมาตราจะดีกว่าที่จะแก้ทั้งฉบับโดยไม่ทำประชามติเสียก่อน

ฟากส.ส.-สว.321 คนจึงอ้างว่าได้ทำตามคำแนะนำของศาลรธน.แล้ว แต่ศาลรธน.กลับจะมาขัดขวาง จึงต้องดับเครื่องชนกันให้พังไปข้าง

แต่วิธีแรกคือจะไม่ส่งหนังสือชี้แจง เพื่อสู้คดีไปยังศาลรธน.ตามที่ศาลรธน.สั่งให้ทำภายใน 15 วันหลังได้รับหนังสือจากศาลรธน. ที่ส่งไปให้ที่รัฐสภา

ที่ปรากฏว่ามีหนังสือส่งไปที่รัฐสภาแล้วแต่พวกส.ส.-ส.ว.กลุ่มดังกล่าวปฏิเสธที่จะไปรับที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร เหมือนกับต้องการเย้ยศาลรธน. หลังก่อนหน้านี้ พวกส.ส.-ส.ว.กลุ่มนี้ก็ร่วมกันออกแถลงการณ์ตำหนิศาลรธน.แล้วว่าใช้อำนาจเกินขอบเขตมาแล้วเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน การขย่มศาลรธน. พวกเสื้อแดง-เพื่อไทยก็ยังคงใช้วิธีการเดิมๆคือขนคนไปข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม

ไม่เว้นแม้แต่กับศาลรธน.ที่มี กลุ่มคนเสื้อแดงที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมร้อยคนไปปักหลักชุมนุมหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ ต่อเนื่อง 3-4 วันแล้วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อกดดันเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนยุติการทำหน้าที่ ซึ่งตามข่าวบอกว่ากลุ่มเสื้อแดงดังกล่าวมีลักษณะการจัดตั้งมาขู่ศาลรธน.ชัดเจน

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดข้างต้นที่ทีมข่าวการเมืองยกมาให้เห็น ตอกย้ำให้เห็นว่าโครงข่ายเพื่อไทยและเสื้อแดง ร่วมมือกันขย่มศาลรธน.เพื่อกดดันการตัดสินคดีแก้ไขรธน.อย่างชัดเจน จะแก้ตัวอย่างไรก็ยากจะสลัดข้อเท็จจริงออกไปได้

และพฤติกรรมบางอย่างก็สมควรต้องถูกตำหนิ เช่นการที่คนเสื้อแดงแค่ไม่กี่สิบคนไปชุมนุมหน้าศาลรธน.เพื่อกดดันให้ตุลาการศาลรธน.ยุติการปฏิบัติหน้าที่

พวกนี้ ทำเสมือนกับว่าพวกเสื้อแดงใหญ่คับฟ้า ใครทำอะไรไม่ถูกใจ ก็ใช้วิธีก่อหวอดมาขับไล่กันง่ายๆ เหมือนบ้านเมืองไม่มีกฎหมายหลักกติกาความถูกต้อง

แถมพวกหัวหน้าแก๊งเสื้อแดงแทนที่เมื่อเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ก็ควรต้องทำให้ทุกอย่างอยู่ในความสงบ ไม่สนับสนุนกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย แต่กลับออกมายุยงให้พวกเสื้อแดงยกพวกไปข่มขู่ศาลรธน.เพียงเพราะเห็นว่าศาลรธน.เป็นฝ่ายตรงข้าม

“ทีมข่าวการเมือง”เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของพวกเครือข่ายของทักษิณที่วางแผนขย่มศาลรธน.ในเวลานี้แล้ว ก็ต้องชื่นชม ตุลาการศาลรธน.ที่ไม่หลงกลลงมาเล่นในเกมของทักษิณและเพื่อไทย คือปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรธน.

ถือเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว เพราะหากตุลาการศาลรธน.บางคน พลาดไปเล่นในเกมของเพื่อไทย เช่นออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้กลับไปยังพวกส.ส.-ส.ว. ที่เคลื่อนไหวกดดันศาลรธน.จนเรื่องบานปลาย กลายเป็นความขัดแย้งส่วนตัวต่อกัน

อาทิมีการแจ้งความดำเนินคดี ข้อหาหมิ่นประมาทต่อกัน ก็จะกลายเป็นประเด็นให้พวกนี้นำไปกดดันให้ตุลาการศาลรธน.คนดังกล่าวถอนตัว จากการวินิจฉัยคดีโดยอ้างว่าหากทำหน้าที่เป็นตุลาการผู้พิจารณาคดีต่อไปจะ ไม่เป็นกลาง ก็เสร็จพวกเพื่อไทยตามแผน!

การออกมาให้สัมภาษณ์ของตุลาการศาลรธน.บางคนในช่วงนี้ เช่น วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ -จรัญ ภักดีธนากุล

พบว่าอยู่ในขอบเขตที่พอดี พูดในหลักการ ให้ข้อคิด ไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในความขัดแย้งกับพวกส.ส.-ส.ว.-เสื้อแดง ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่วางสถานะของศาลรธน.ให้อยู่เหนือความขัดแย้งเช่นนี้ แล้วก็ทำหน้าที่วินิจฉัยคดีไปตามข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย

แล้วก็ให้มติของตุลาการศาลรธน.และคำวินิจฉัยคดีเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวตนและการทำงานของศาลรธน.กันไป

ทว่าก็มีข่าวออกมาว่าเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีแก้ไขรธน.กันเมื่อไหร่ หรือเรื่องเริ่มคลายความร้อนแรงเมื่อใด

พวกเสื้อแดง-แดงสถุล ทั้งหลายที่มายืนด่าตุลาการศาลรธน.หน้าตึกทางเข้าศาลรธน.ก็ระวังตัวกันให้ดี เพราะสำนักงานศาลรธน.เขามีการส่งคนไปอัดเทปเสียงเทปภาพไว้หมดแล้ว เพื่อรอแจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกันหลังจบสิ้นกระแสความการวินิจฉัยคดีแก้ไขรธน.

ไม่ใครก็ใครในกลุ่มเสื้อแดงที่ไปด่าศาลรธน.อาจได้เข้าไปนอนคุกกันบ้าง จะได้หลาบจำ!
ทักษิณ ชินวัตร
วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
จรัญ ภักดีธนากุล

กำลังโหลดความคิดเห็น