xs
xsm
sm
md
lg

เอแบคโพลล์เผยคนไทย 52% ไม่กังวลสัมพันธ์ไทย-เขมร 47 % ห่วงเกิดสงคราม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอแบคโพลล์สำรวจความเห็นประชาชนพบส่วนใหญ่หรือ 52% ไม่กังวลต่อความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาในอนาคน กรณีพิพาทเขาพระวิหาร ขณะที่คนส่วนใหญ่หรือ 47% กลับเกรงว่าจะนำไปสู่สงคราม 61% คิดว่าไม่กระทบต่อการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน

นายสุริยัน บุญแท้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องความกังวลของประชาชนต่อความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ท่ามกลางกรณีพิพาทประสาทพระวิหาร : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ปทุมธานี ชลบุรี อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ หนองบัวลำภู สกลนคร ศรีสะเกษ ขอนแก่น ระนอง พัทลุง และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 2,232 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-19 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ประเด็นสำคัญที่พบมีดังนี้

ท่ามกลางกรณีพิพาทประสาทพระวิหารในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่าตัวอย่างร้อยละ 47.6 รู้สึกกังวลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาในอนาคต ขณะที่ร้อยละ 52.4 ไม่รู้สึกกังวล เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อการส่งผลกระทบต่อการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนจากกรณีพิพาทดังกล่าว พบว่าตัวอย่างเกือบ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 61.1 คิดว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน ในขณะที่ร้อยละ 38.9 คิดว่าส่งผล

ส่วนความกังวลว่ากรณีพิพาทนี้จะนำไปสู่สงครามระหว่างไทย-กัมพูชา พบว่าตัวอย่างเกือบครึ่งหรือร้อยละ 47.4 กังวลมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 27.6 กังวลน้อยถึงไม่กังวลเลย โดยมีร้อยละ 25.0 กังวลปานกลาง อย่างไรก็ดี พบว่าตัวอย่างสูงถึงร้อยละ 95.2 สนับสนุนให้ใช้การเจรจาโดยสันติวิธีเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา โดยมีเพียงร้อยละ 4.8 สนับสนุนให้ใช้กำลังทหาร

เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกที่มีต่อชาวกัมพูชาในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 24.3 ระบุรู้สึกดี ร้อยละ 42.0 ระบุรู้สึกเฉยๆ ในขณะที่ร้อยละ 33.7 ระบุ รู้สึกแย่

นายสุริยันกล่าวว่า แม้กรณีพิพาทประสาทพระวิหารจะเป็นเรื่องตึงเครียดของทั้งสองประเทศ แต่คนไทยเองก็ยังอยากรักษามิตรกับประเทศนี้ไว้ และหนุนแนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มเป้าหมายผู้ถูกศึกษา ยังพบว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อาทิ การค้าชายแดน แรงงาน และการลงทุนในกัมพูชานั้น แม้จะมีระดับความสำคัญไม่เทียบเท่ากับอธิปไตยเหนือดินแดน แต่ก็ถือว่ามีความสำคัญมากที่จะยอมสูญเสียไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น จึงไม่อยากให้เกิดเหตุบานปลายจนกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว และหวังว่ารัฐบาลของทั้งสองประเทศจะมีแนวทางออกในการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติร่วมกันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น