กรุงเทพโพลล์สำรวจผู้สูงอายุเนื่องในวันสงกรานต์และวันผู้สูงอายุ พบ 71% ได้รับความสนใจและเอาใจใส่จากลูกหลาน 37% อยากให้ลูกหลานมาอยู่พร้อมหน้าเพื่อจัดกิจกรรมร่วมกัน ระบุสงกรานต์สมัยนี้เล่นกันรุนแรงเกินไป อยากบอกลูกหลานให้ทำตัวเป็นคนดี อยู่ในศีลธรรม สุดท้ายต้องการให้รัฐบาลเพิ่มเบี้ยยังชีพ
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “บทเรียนชั่วชีวิตของผู้สูงอายุ ที่อยากบอกลูกหลานในวันสงกรานต์” เนื่องในวันที่ 13 เมษายน เป็นวันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทยแล้ว รัฐบาลยังกำหนดให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” โดยเก็บข้อมูลกับผู้สูงอายุจำนวน 1,183 คน เมื่อวันที่ 5-8 เมษายน ที่ผ่านมา
ผลสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 71.5 บอกว่าได้รับความสำคัญ ความสนใจ และความเอาใจใส่ จากลูกหลานอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 21.8 บอกว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ส่วนร้อยละ 6.7 บอกว่าไม่ได้รับความสนใจเลย และเมื่อถามต่อว่า “กลัวจะถูกลูกหลานทอดทิ้งหรือไม่” ร้อยละ 87.7 บอกว่าไม่กลัว ขณะที่ร้อยละ 12.3 บอกว่ากลัวจะถูกทอดทิ้ง
ส่วนสิ่งที่อยากได้จากลูกหลานเนื่องในวันผู้สูงอายุในปีนี้ ร้อยละ 37.6 บอกว่าอยากให้ลูกหลานมาอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ทำกิจกรรมร่วมกันที่บ้าน รองลงมาร้อยละ 18.3 บอกว่าอยากให้ลูกหลานเคารพและฟังคำตักเตือนของผู้ใหญ่ และร้อยละ 16.6 บอกว่าอยากให้พาไปทำบุญตามวัดต่างๆ
ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการเล่นสงกรานต์สมัยนี้ว่ามีความแตกต่างจากสมัยก่อนอย่างไร ร้อยละ 35.5 บอกว่าสมัยนี้เล่นกันรุนแรง และคึกคะนองเกินไป รองลงมาร้อยละ 22.7 บอกว่า เล่นไม่สุภาพ แต่งตัวโป๊ ล่วงเกินและลวนลามผู้หญิง และร้อยละ 13.5 บอกว่าเล่นกันเอาสนุกเข้าว่า ทำให้ประเพณีดั้งเดิมหายไปหมด
ส่วนเรื่องที่อยากให้ลูกหลานระมัดระวังมากที่สุดขณะออกไปเที่ยวในวันสงกรานต์ปีนี้ คือ ระวังอุบัติเหตุทางรถยนต์ ถนนลื่น (ร้อยละ 53.2) รองลงมาคือระวังคนเมาสุรา ทะเลาะวิวาท ตีกัน (ร้อยละ 14.1) และระวังการเล่นสาดน้ำรุนแรงเกิดขอบเขต (ร้อยละ 11.6)
สำหรับบทเรียนสำคัญที่สุดชั่วชีวิตที่ผู้สูงอายุต้องการจะบอกแก่ลูกหลานในสังคมคือ ให้ทำตัวเป็นคนดี อยู่ในศีลธรรม (ร้อยละ 26.7) รองลงมาคือให้รู้จักวางแผนการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง มีสติ ไม่ประมาท (ร้อยละ10.8) และให้ขยัน ตั้งใจ และอดทน ทั้งในเรื่องการเรียนและการทำงาน (ร้อยละ10.1)
สุดท้ายเรื่องที่ผู้สูงอายุอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ ดูแลมากที่สุดคือ เพิ่มเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุให้สูงขึ้นจากเดิม (ร้อยละ 36.7) รองลงมาคือ ให้ผู้สูงอายุรักษาฟรีทุกโรงพยาบาล และได้รับการบริการที่ดีและรวดเร็ว (ร้อยละ 30.3) และให้จัดหน่วยแพทย์ตรวจและดูแลสุขภาพผู้สูงอายุตามชุมชนต่างๆ (ร้อยละ 8.1 )