“ยิ่งลักษณ์” สั่งบูรณาการไฟใต้ เร่งดำเนินคดีหลังออกหมายจับ กห.เผย 136 หมู่บ้านโจรใต้ชุก จัดหน่วยจรยุทธ์เข้มทุกหมู่บ้าน เตรียมส่ง สตช.1,000 นายลงพื้นที่ “พงศ์เทพ” ชี้ โจรเหิมเหตุจับตัวยาก ชาวบ้านไม่กล้าเป็นพยาน แนะส่งผู้เชี่ยวชาญทำคดีกันมีปัญหาในชั้นศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 9 เม.ย. นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ได้สรุปการสั่งการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. พื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงบ่อยครั้ง 2. พื้นที่ที่มีการเคลื่อนไปแต่ไม่รุนแรง และ 3. พื้นที่ที่มีความสงบไม่มีการเกิดเหตุ โดยให้มีการกำหนดจุดที่เกิดเหตุซ้ำซาก โดยเฉพาะในส่วนของถนน เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการแก้ไขปัญหา รวมถึงดูสภาพแวดล้อมจุดที่ล่อแหลม อย่างท่อระบายน้ำที่ง่ายต่อการวางระเบิด เร่งพัฒนาใช้กล้องวงจรปิด การให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดดำเนินคดีต่างๆ เพราะที่ผ่านมาเกิดคดีจำนวนมาก โดยนายกฯไม่อยากเห็นการออกหมายจับแต่ไม่มีความคืบหน้าของคดี ขณะที่งานด้านสาธารณสุข นายกฯ ต้องการให้โรงพยาบาลในพื้นที่มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีรถกู้ชีพ และมีแพทย์ตำบล ขณะที่กระทรวงมหาดไทยจะมีการจัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าศูนย์
ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวว่า ในส่วนของการแบ่งพื้นที่กระทรวงกลาโหมได้มีการดำเนินการแล้ว และพบว่ามีผู้ก่อความไม่สงบอยู่ใน 136 หมู่บ้าน ที่เป็นพื้นที่ก่อเหตุความรุนแรง ในส่วนของกองทัพจะมีการสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน โดยจัดตั้งหน่วยจรยุทธ์ขนาดเล็กเข้าไปประจำแต่ละหมู่บ้าน เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน ขณะที่สิ้นเดือน พ.ค.นี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 1,000 นายลงไปปฎิบัติงานในพื้นที่
ขณะที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาโจรใต้ไม่กลัวกฎหมายเพราะเวลาก่อเหตุแล้วไม่สามารถจับกุมได้ และเจ้าหน้าที่ไม่กล้าที่จะเข้าไปหาหลักฐาน รวมถึงพยานก็ไม่กล้าเป็นพยานให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมีการจัดเจ้าหน้าที่ที่มีระสบการณ์ในการทำคดีในภาคใต้คอยให้คำปรึกษา รวมถึงจัดหาล่ามสนับสนุนให้เพียงพอ เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการแปลถ่ายทอดข้อมูลให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้มีปัญหาในชั้นศาล
ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่า อยากเห็นการบูรณาการการทำงานที่ชัดเจน กฎหมายที่ซ้ำซ้อนต้องมีการปรับปรุง งบประมาณที่มีการอนุมัติลงไปแล้วก็ขอให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประสานงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ไปติดตามงานทุกกระทรวง