รายงานการเมือง
สะดุ้งเฮือกกันทั้งสภา ทั้งส.ว. และ ส.ส. ที่กำลังขับเคลื่อนกระบวนการชำแหละรัฐธรรมนูญฉบับ “หน้าแหลมฟันดำ” ในยุทธวิธีฉีกแบบรายมาตราเพื่อเปิดทางการรื้อทั้งฉบับให้ง่ายขึ้น
หลังจากเมื่อช่วงบ่ายแก่ๆ เมื่อวันที่ 3 เมษายน ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ใช้สิทธิ์ตามมาตรา 68 เพื่อให้ยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ของรัฐสภา เพราะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน
ปรากฎว่า ที่ประชุมมีมติ 3 ต่อ 2 รับคำร้องกรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบมาตรา 68 วรรคสอง และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 17 (2) ศาลรัฐธรรมนูญจึงให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
แต่กรณีการขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินนั้น ยังไม่ปรากฎมูลกรณีอันเป็นเหตุฉุกเฉินหรือเหตุผลอันสมควรเพียงพอที่จะต้องใช้วิธีการชั่วคราวดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงให้ยกคำร้อง ทำให้การพิจารณาในสภาสามารถดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ให้ “ผู้ร้อง - ผู้ถูกร้อง” ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน
ตามบทวิเคราะห์คอการเมือง รับคำร้องวินิจฉัยครั้งนี้เหมือนเป็นคำตอบว่า “ห้ามแตะ”
อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยดังกล่าว ทำเอาพลพรรคเพื่อไทย และ “นายใหญ่” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ลุ้นอยู่หน้าจอที่นครดูไบถึงกับช็อก!!! ไม่คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องดังกล่าว
เรียกว่า ผิดคาดขนานใหญ่ เนื่องจากการก้าวย่างชำแหละรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราในครั้งนี้ ถือเป็นวิธีการที่นุ่มนวลและปลอดภัยที่สุด เพราะถือเป็นการทำตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อครั้งวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2555 ที่ผ่านมา
ฉะนั้นจึงอ้างได้ว่า เป็นการทำตามศาลรัฐธรรมนูญแบบทุกกระเบียดนิ้ว การที่ศาลจะมากลืนน้ำลายตัวเองกลับคำวินิจฉัยหนนั้นจึงไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้
ด้านพลกำลังในสภา นอกจากเสียง ส.ส.ของเครือข่ายนายห้างที่พอจะหอบหิ้วให้ผ่านแต่ละวาระไปได้แล้ว จำนวนเสียง ส.ว.เลือกตั้ง ที่อยู่ในองคาพยพในการร่วมสังฆกรรมครั้งนี้ก็ทำให้คะแนนท่วมท้นชอบธรรมได้
เช่นเดียวกับการแก้ไขในมาตรา 237, 190, 68 และที่มาของส.ว. ก็เป็นมาตราที่ไม่น่าจะมีแรงเสียดทานมากนัก เพราะมาตราที่พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม 40 ส.ว.ระแวงคือ มาตรา 309
รวมถึงการแก้ไขแบบรายมาตรานี้ก็ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะเมื่อเหลือบหันไปมองข้างหลังในทางเลือกอื่นแทบจะมืดบอดสนิท
การชำแหละกันแบบนี้ถือว่า พลพรรคนายใหญ่มั่นใจเกินร้อยว่าทำได้แน่!
แต่กระนั้น ฝ่ายรัฐบาลก็ประเมินพลาด เมื่อแนวร่วมต้านจับทางได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 68 คือ กุญแจดอกแรกที่จะไขประตูเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ที่ค้างเติ่งเป็นอัมพาตอยู่ในการพิจารณาของสภาในวาระ 3 กลับมาทำได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยงกับคมดาบของศาลรัฐธรรมนูญ
เพราะหากแก้ไขได้สำเร็จ ต่อไปการจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการกระทำต่างๆของรัฐบาล และรัฐสภา จะต้องผ่านมืออัยการสูงสุดก่อนจะไปถึงปลายน้ำอย่างศาลรัฐธรรมนูญ
ถือเป็นการตัดความหวาดเสียวที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้มากโข และทำให้รัฐบาล - รัฐสภาสามารถทำอะไรได้คล่องตัวมากขึ้นโดยไม่ต้องหวาดระแวงกล้าๆ กลัวๆ อย่างที่เป็นๆกันมา
ฝ่ายต้านจับทางได้และรู้ช่องว่า หากปล่อยให้ชำแหละผลที่จะตามมาคืออะไร และการต่อสู้จะต้องใช้แนวทางไหน
ซึ่งนายสมชายก็เลือกเหตุผลการริดลอนสิทธิเสรีภาพประชาชนมาเป็นข้อต่อสู้ เพราะในเมื่อรัฐบาลอ้างว่าทำเพื่อประชาชน ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 68 จึงเท่ากับริดลอนสิทธิเสรีภาพประชาชน เรียกว่าสวนทางกันแบบชัดเจน
และเมื่อผลที่ประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกมารูปการณ์นี้ แน่นอนว่า รัฐบาลและองคาพยพต้องกุมขมับหนักขึ้น
โดยเฉพาะบรรดา ส.ว.ที่เข้าร่วมสังฆกรรมครั้งนี้เพื่อต้องการสังคายนาที่มาของ ส.ว.ใหม่ และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่ย่อมกลัดกลุ้มเริ่มเสียวกับท่าทีของศาลรัฐธรรมนูญ การจะเดินหน้าฝ่าบุกต่อจึงทำให้ต้องฉุกคิดและระแวงกับความปลอดภัยของตัวเอง
ตามคิวสะดุด ถนนไม่เรียบเหมือนที่คาดการณ์
ย่างก้าวของพรรคเพื่อไทยต่อจากนี้จึงต้องจับตาห้ามกระพริบ เพราะต้องอย่าลืมว่า พรรคเพื่อไทยหมดทางเลือกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ค้างเติ่งอยู่ในสภาวาระ 3 ที่หากแก้ไขมาตรา 68 ไม่ได้การจะไปแตะต้องย่อมไม่ใช่วิถีคนฉลาด
แน่นอนว่า ไม่มีใครย่อมเสี่ยงยกมือให้เพื่อเดิมพันกับตำแหน่งตัวเองในสภาผู้ทรงเกียรติแน่ๆ
ขณะที่การทำประชามติ ที่ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาของสถาบันศึกษาที่รัฐบาลมอบหมายให้ช่วยตั้งแต่ต้นปี ก็ดูเหมือนรัฐบาลเองก็ไม่อยากจะเลือกใช้ เพราะมีเงื่อนไขที่ฝ่าได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงก่อน จากนั้นจึงจะไปใช้เสียงกึ่งหนึ่งของผู้มาลงประชามติ
วิธีนี้พรรคประชาธิปัตย์รู้หนทางดักเอาไว้แล้ว เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยเองก็รู้ว่าหากเลือกแล้วพลาดล่มตั้งแต่สเตปแรกคือ มีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง ความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะหมดไปทันที
เพราะถือว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจะแก้อื่นๆนั้นเป็นเรื่องไม่เหมาะไม่ควรอย่างยิ่ง
การแก้ไขแบบรายมาตราจึงเป็นทางเลือกสุดท้าย เพียงแต่เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่าทำได้ แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังจะแก้ไขด้วยแฝงเจตนาไม่ดี ผลที่ออกมาจึงเป็นอย่างนี้
นาทีนี้คนที่เวียนหัวตึบมากที่สุดคงหนีไม่พ้น “นายห้างดูไบ” ที่คงอัดอั้นและอาจมีคำถามในใจขึ้นมาแล้วว่า ตกลงจะให้แก้รัฐธรรมนูญกันด้วยวิธีการไหนกันแน่
น่าสนใจ และน่าติดตามกันเป็นอย่างมาก ในเมื่อสถานการณ์ของพรรคเพื่อไทย และ “นายใหญ่” อยู่ในภาวะเลือดเข้าตา
จนมุมในสถานะ “เดินหน้าก็เสี่ยง เลี่ยงถอยก็ตีบตัน”
ถึงคิววัดใจ “ทักษิณ” กันแล้ว หากเลือกลุยฝ่า ทั้งๆที่เหมือนมีสัญญาณชัดเจนจากกรณีศาลรับคำร้องในมาตรา 68 ครั้งนี้ เสมือนหนึ่งชูป้ายห้ามเข้า จะกล้าเดินสวนท้าความเสี่ยงกันหรือไม่
หากกล้าตามสไตล์สู้หมดหน้าตัก ชนิดล้มกระดานกันเที่ยวนี้ กลียุคมีสิทธิ์เกิดขึ้นในเร็ววัน