ตุลาการศาลปกครองชี้คดีปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ ยังไม่พบหลักฐานใหม่ที่ชี้ให้เห็นว่ากรมวิชาการเกษตรละเลย เสนอให้ยกฟ้อง ด้านฝั่งกรีนพีซเผยคดีนี้ยืดเยื้อ ชี้พืชจีเอ็มโอไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายได้ สะท้อนการตรวจสอบและควบคุมยังไม่มีประสิทธิภาพ
วันนี้ (2 เม.ย.) ศาลปกครองสูงสุด ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่กลุ่มกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ยื่นต่ออุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด ฟ้องร้องกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในข้อหาละเลยต่อหน้าที่ในการจัดการการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ สายพันธุ์แขกดำท่าพระ จนปล่อยให้หลุดออกสู่นอกแปลงทดลองแบบเปิด โดยได้ยื่นไว้ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2551 หรือเมื่อ 5 ปีก่อน หลังจากศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องโดยตุลาการแถลงยืนคำพิพากษายกฟ้องคดีมะละกอจีเอ็มโอ
ทั้งนี้ ในการพิจารณาคดีดังกล่าว นายวรศักดิ์ อารีเปี่ยม ตุลาการผู้แถลงคดี ได้แถลงความเห็นในคดีดังกล่าวว่า จากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เห็นว่า กรมวิชาการเกษตรไม่ได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการมะละกอปนเปื้อนจีเอ็มโอ ซึ่งมีหลักฐานทางหนังสือและการแถลงทางวาจาที่ระบุว่าหลังจากพบการปนเปื้อนในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ มหาสารคาม ยโสธร ก็มีการประกาศเขตควบคุมศัตรูพืช และใช้วิธีการทำลายโดยการฝังกลบ ซึ่งแม้จะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องที่สุดตามที่กลุ่มกรีนพีซร้องไว้ แต่ก็ยังมีการติดตามตรวจสอบปัญหาการปนเปื้อนอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2547-2550 ในหลายพื้นที่ เช่น นครสวรรค์ นครนายก ชุมพร ระยอง ชัยภูมิ ขแนแก่น มหาสารคาม ระยอง เป็นต้น ส่วนกรณีที่กลุ่มกีรนพีซอ้างว่าพบการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอที่ จ.กาญจนบุรีในปี 2552 นั้นพบว่าเป็นมะละกอพันธุ์ฮาวาย ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับมะละกอที่กรมวิชาการเกษตรทดลองในแปลงเปิด จึงไม่สามารถใช้เป็นข้อเท็จจริงใหม่ จึงเห็นควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษายกฟ้อง
ขณะที่นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรงรณค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า คดีนี้ยืดเยื้อมานานถึง 5 ปีแล้ว หลังจากกรีนพีช ตรวจสอบการหลุดรอดมะละกอจีเอ็มโอสายพันธุ์แขกดำท่าพระปนเปื้อนในแปลงของเกษตรกร เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2547 ทั้งที่อยู่ระหว่างในแปลงทดลองแบบเปิด โดยกรมวิชาการเกษตรที่สถานีวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 3 อ.ท่าพระ จ.ขอนแก่น แต่ไม่ว่าศาลจะพิจารณาออกมาอย่างไร แต่สิ่งที่ประจักษ์ชัดเจนก็คือ พืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด และในไร่นาไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายได้ ทั้งในแง่ของอำนาจการควบคุมโดยกรมวิชาการเกษตร และโดยธรรมชาติของมันเอง ชี้ให้เห็นว่าการตรวจสอบและกฎหมายควบคุมของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพ