xs
xsm
sm
md
lg

เอาแน่ ม.นเรศวร - “มอนซานโต้” ยันต้องทำข้าวโพดจีเอ็มโอ บึงราชนก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ม.นเรศวรจับมือมอนซานโต้ ยกแม่น้ำทั้งห้ากล่อมชาวบ้านยกมือหนุนทดลองข้าวโพดจีเอ็มโอที่บึงราชนก เมืองสองแคว อธิการบดียันต้องได้ คาดเริ่ม เม.ย. ผู้บริหารบริษัทข้ามชาติชูยอดขายแสนล้านล่อ

วันนี้ (22 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พิษณุโลก ว่าตลอด 2 วันที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ได้ร่วมกับบริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด เชิญชาวบ้าน 60 คน นักวิชาการ 30 คน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐอีก 20 คน ร่วมประชุมโครงการวิจัยและพัฒนาทดสอบข้าวโพดดัดแปลงพันธุธรรมสายพันธุ์ NK 603 ในแปลงทดลองที่โรงแรมท๊อปแลนด์ เพื่อรับทราบข้อมูล และร่วมเสนอความติดเห็นต่อการดำเนินโครงการที่ มน.ร่วมกับภาครัฐและเอกชน รวมถึงบริษัทจะดำเนินการในแปลงทดลองบึงราชนก อ.วังทอง

โดย ศ.ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดี มน.กล่าวว่า ปัจจุบันมีเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด 4 สายพันธุ์ และลูกผสม 3 สายพันธุ์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต้องคิดค้นตลอดเวลา เพราะทรัพยากรเริ่มหมดไป จึงต้องเพิ่มผลผลิต และหาวิธีแก้ปัญหาแมลงหรือศัตรูพืช รวมทั้งลดต้นทุนการผลิต ดังนั้น นักวิชาการต้องคิดถึงข้าวโพดที่ก้าวทันโลก หากผสมในสายพันธุ์เดียวกันจะทำให้อ่อนแอ จึงต้องต้องปิดหูปิดตาบ้างเพื่อผสมข้ามสายพันธุ์ นักวิชาการต้องรู้ให้หมดว่าสายพันธุ์ใดต้านโรค หรือมีคุณสมบัติเด่น

“ทุกปีไทยต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หากไม่พัฒนาด้านวิชาการแล้ว ข้าวโพดไทยจะยืนอยู่ตรงไหน เพราะการปลูกข้าวโพดสักครั้งต้องซื้อพันธุ์จากต่างประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนสูง วันนี้ประเทศไทยล้าหลังต่างประเทศกว่า 20 ปี จึงหนีไม่พ้นการตัดต่อพันธุกรรม วันนี้ไทยซื้อลิขสิทธิ์มะละกอจีเอ็มโอ แต่เป็นสายพันธุ์อ่อนแอ มีไวรัสคุกคาม เคยทดลองปลูกและถูกประชาชนต่อต้านต้านที่ขอนแก่น ทำให้ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์มะละกอจากต่างประเทศ เนื่องจากการพัฒนาสายพันธุ์ที่ขอนแก่นชะงักไป”

ศ.ดร.สุจินต์กล่าวว่า หากจะให้ครัวไทยเป็นครัวโลก ต้องคิดด้วยว่าโรคก็ไม่หยุดนิ่งเช่นกัน ถ้าไม่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดต้านทานโรค ผลผลิตจะต่ำ สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรเอง แต่โครงการดัดแปลงพันธุกรรมสายพันธุ์ NK 603 ต้องได้รับการรับรองจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) และจากประชาชน ดังนั้นจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เปลี่ยนคำว่า “ไม่” เป็นคำว่า “ได้” เพื่อความมั่นคงทางอาหาร

“ขอให้ประชาชนยอมรับโครงการนี้ เพราะเป็นแค่การทดลอง ใช้พื้นที่แค่ 5 ไร่ ถ้าผ่าน ครม. อนาคตจะพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดได้อีกมาก ซึ่งปัจจุบันถั่วเหลืองนำเข้าจากจีน ก็ถือเป็นสายพันธ์จีเอ็มโอ ใช้มาแล้ว 10 ปี ผลกระทบไม่มี ซึ่งการทดลองครั้งนี้ก็เพื่อทดสอบว่า ต้านทานยาฆ่าหญ้าอย่างไร คิดว่าไม่น่ามีผลกระทบอะไรมาก เบื้องต้นใช้เวลาทดลอง 7 เดือน หลังจากนั้น 3 เดือน จะพิจารณาดูว่าพื้นที่เป็นอย่างไรต่อไป หากเป็นไปตามแผนจะเริ่มเดินหน้าในเดือนเมษายนถึงตุลาคมนี้”

ขณะที่ ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจ บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้มีความสำคัญในการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ เพราะมีความพร้อมด้านภูมิประเทศ มีเมล็ดพันธุ์ และกำลังก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี หากก้าวไปสู่จุดนั้นได้จริงก็จะเป็นศูนย์กลางผลิตเมล็ดพันธุ์ของโลกได้ ดังนั้นจะส่งเสริมอย่างไรให้คนไทยใช้เทคโนโลยีผลิตข้าวโพดไทย เพื่อก้าวสู่มูลค่า 1 แสนล้านบาท รายได้ตกอยู่กับประชาชน 3,600 ล้านบาทต่อปี เฉพาะการส่งออก 4,000 ล้านบาท และใช้ข้าวโพดหมุนเวียนในประเทศ 1,4000 ล้านบาท แปรรูปเป็นอาหารสัตว์อีก 50,000 ล้านบาท

“ข้าวโพดจีเอ็มโอประสบความสำเร็จมาแล้วใน 19 ประเทศ หากรัฐบาลสนับสนุนก็จะถือเป็นโครงการนำร่อง เพราะมีประโยชน์ คือ ลดสารเคมี และแข่งขันกับประเทศอื่นได้”

รศ.ดร.จวงจันทร์ ดวงพัตรา นายกสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย และอาจารย์ภาควิชาพืชไร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เรารับประทานถั่วเหลืองจีเอ็มโอต่อเนื่องมา 10 ปีมาแล้ว ถ้าจะต่อต้านโครงการดัดแปลงพันธุธรรมสายพันธุ์ NK 603 ก็คงเป็นเรื่องของการกีดกันทางการค้า ซึ่งกลุ่มกรีนพีชก็ได้เงินมหาศาลเพื่อต่อต้าน สำหรับตนเห็นด้วยกับการทดลอง เพราะเป็นเรื่องของความรู้ ก่อให้เกิดความปลอดภัย

“มอนซานโตใช้เวลาหลายปีเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ ถ้าได้ทดลองถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และพืชอีกหลายชนิดก็จะใช้ช่องทางนี้ในการลงทะเบียนพัฒนาสายพันธุ์ต่างๆ เช่น มะเขือ มะละกอ เป็นต้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านที่ร่วมรับฟังส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะเปิดให้มีการทดลองที่แปลงทดลองบึงราชนก ขณะที่กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนยังคงดยืนที่จะต่อต้านการทดลอง เพราะหากกระจายไปสู่แปลงข้าวโพดของชาวบ้านจะส่งผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวโพดฝักอ่อน และข้าวโพดหวานเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมีตลาดสหภาพยุโรปหรืออียูเป็นตลาดสำคัญ หากพบว่าปนเปื้อนข้าวโพดจีเอ็มโอย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกแน่นอน





กำลังโหลดความคิดเห็น