โฆษก ปชป.จี้ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ตอบ 8 ข้อข้องใจผลักดันกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ทำไมไม่เขียนให้ชัดว่าจะไม่จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ รถไฟความเร็วสูงตามโครงการวิ่งแค่โคราชไม่ได้เชื่อมอาเซียนตามที่อ้าง แถมราคาขบวนกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ สูงถึง 2 พัน แพงกว่าสายการบินโลว์คอสต์ เหน็บคนจนคงสู้ผักไม่ได้เพราะไม่มีเงินขึ้นรถไฟ พร้อมอัด แก้ รธน. ม.68 เปิดช่องรื้อทั้งฉบับ
นายชวนนท์ อินทรโกมาลสุตย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...จำนวน 2 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ไม่ประหลาดใจที่สภาผ่านร่างดังกล่าวแม้ฝ่ายค้านพยายามให้เหตุผลว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริง และขอให้เป็นการใช้เงินโดยปราศจากคอรัปชั่น
ทั้งนี้ ฝ่ายค้านเห็นว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมมีความจำเป็น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับด้านอื่นด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นที่น่าสงสัยในด้านยุทธศาสตร์ว่าเป็นไปเพื่อพัฒนาประเทศหรือเพื่อคนเบื้องหลัง ตนจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถาม 8 ข้อ ก่อนที่จะดำเนินโครงการ
1. ทำไมจึงมีความจำเป็นต้องกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แทนที่จะตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 7 ปี 2.ทำไมรัฐบาลไม่เขียนกำกับไว้ว่าจะไม่ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ แต่จะใช้ระเบียบพัสดุตามปกติเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ 3. เอกสารในบัญชีแนบท้ายของร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯจำนวน 231 หน้า ไม่มีผลทางกฎหมาย ทำให้รัฐบาลสามารถเปลี่ยนแปลงโครงการที่แนบท้ายได้
4. รัฐบาลจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะใช้หนี้ภายใน 50 ปีหมด 5. เหตุใดรัฐบาลไม่ทบทวนโครงการที่ดำเนินการ 6. การที่รัฐบาลอ้างว่าพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านคมนาคาเพื่อเชื่อมโยงอาเซียนนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายอีสานไปสุดเพียง จ.นครราชสีมา ส่วนสายใต้สุดที่ อ.หัวหิน
7. หลายโครงการในเอกสารประกอบบัญชีแนบท้ายเม็ดเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.และยังไม่ผ่านการศึกษา และ 8. ราคาค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 2,000 บาทโดยประมาณ ซึ่งราคาค่าโดยสารของสายการบินโลว์คอสต์อาจจะถูกกว่า
“คนจนคงจะสู้ผักไม่ได้ เพราะผักจะได้ขึ้นรถไฟ ซึ่งผักอาจจะสดจริง แต่ผลกระทบที่ตามมาราคาผักก็ต้องเพิ่มขึ้นไปด้วยตามต้นทุนการขนส่ง กระหล่ำหัวละ 8 บาท ก็อาจจะต้องซื้อในราคาหัวละ 800 บาทก็ได้ และหากรัฐบาลแทรกแซงราคาตั๋วหมายว่าจะต้องเก็บภาษีประชาชนเพิ่มขึ้นปีละ 3 หมื่นล้าน ประชาชนจะยอมหรือไม่”
นายชวนนท์ยังกล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา วาระที่ 1 ในระหว่างวันที่ 1-3 เม.ย.นี้ว่า ฝ่ายค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทำได้ แต่ขณะนี้ไม่เห็นว่ามาตราที่แก้ไขจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 68 ที่จะเป็นการตัดสิทธิ์ประชาชนในการยื่นเรื่องพิทักษ์รัฐธรรมนูญต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้ยื่นฝ่ายอัยการช่องทางเดียวนั้น และอาจเป็นการแก้ไขเพื่อเปิดโอกาสให้มีการลงมติวาระ 3 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ค้างอยู่ในวาระ 3