“ส.ว.สมชาย” ถามกู้ 2 ล้านล้านคุ้มหรือไม่ ทำไมต้องทำพร้อมกัน ไขสือเอาข้าวแลกขายจีนหรือไม่ แนะใช้เศรษฐกิจพอเพียง “ส.ว.ประสาร” ชี้ชาติเดียวในโลกที่ทำ ซัดกู้ชาตินี้ไปใช้หนี้คืนเอาชาติหน้า - “ส.ว.ตวง” แนะแก้กองทุนบำนาญเพื่อ ขรก.
วันนี้ (26 มี.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.30 น. การประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา หารือถึงการที่รัฐบาลจะกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทว่า ไม่มีใครค้านว่ามีผลดีต่อระบบโลจิสติกส์ของประเทศ แต่คำถามคือคุ้มหรือไม่ ทำไมต้องทำไปพร้อมๆกันทีเดียว และค้างหนี้สินระยะยาวถึง 50 ปี ทำให้อนาคตไม่สามารถกู้ลงทุนได้อีก ซึ่งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่ารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางเวลา 4 ชั่วโมง หากเทียบกับสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) แล้วจะคุ้มกันหรือไม่ รวมทั้งเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทางรวมกัน 1,400 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท โดยเอกสารของกระทรวงคมนามคมยืนยันร้อยละ 82.92 ใช้สำหรับทางรางเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อหารเป็นกิโลฯ แล้วถือว่าแพงมหาศาล จะเข้าตามทฤษฎีสองสูงหรือไม่ โดย 1. บริษัทที่จะขายรถไฟความเร็วสูงให้กับไทย คือ บริษัทของประเทศจีนแน่นอน 2. ข้าวที่เอาไปตุนไว้จะขายให้กับจีนใช่หรือไม่ เป็นการแลกกันใช่หรือไม่ ต่างคนต่างเทรด ทำราคาข้าว 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็น 800 เหรียญสหรัฐต่อกัน ใครจะกินอย่างไรก็ว่าไป ทางจีนราคารถไฟ 1.6 ล้านล้านบาท ราคาจริงถึง 5 แสนล้านหรือไม่
นายสมชายกล่าวอีกว่า ประเทศจำเป็นต้องใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ทำในระยะ 7 ปี ในแผนงบประมาณก็ทำได้ ไม่จะเป็นต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน เพราะใน พ.ร.บ.ยังมีวาระซ่อนไว้อีก คืองบประมาณสำหรับพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 เฟส 3 ทำถนน และอื่นๆ อีกใช้งบประมาณอีก 2 ล้านล้านบาท เบ็ดเสร็จจะมีการกู้ 4 ล้านล้านบาท ดอกเบี้ยทั้งสิ้นประมาณ 3-4 ล้านล้านบาท
ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โดยมีกำหนดเวลาในการชำระหนี้ 50 ปี ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.16 ล้านล้านบาท และถาบวกดอกเบี้ย 50 ปี ประเทศไทยจะเป็นหนี้รวมทั้งสิ้น 5.16 ล้านล้านบาท ซึ่งการกู้เงินของรัฐบาลครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการกู้เงินในจำนวนก้อนใหญ่เท่ากับงบประมาณแผ่นดินทั้งปี ทั้งนี้หากถามว่าทำไมรัฐบาลจำไม่นำเข้าสู่ระบบวิธีการงบประมาณ เพราะระบบวิธีงบประมาณซึ่งกำกับด้วยกฎหมาย 4 ฉบับ และเป็นวิธีที่เป็นมาตรฐานพึงกระทำ แต่รัฐบาลกลับไม่กระทำ ทั้งที่จะใช้เงินปีละ 3 แสนล้านบาทเท่านั้น แล้วเหตุใดจึงจะต้องกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทมากองไว้ เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นวิธีการที่ 1. หลุดจากวิธีการงบประมาณตามปกติของราชการการที่เป็นมาตรฐาน 2. ต้องการโยกใช้อย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ
นายประสารกล่าวต่อว่า ส่วนเอกสาร 19 มาตรา บวกเอกสารแนบท้ายอีก 4-5 หน้า ไม่มียุทธศาสตร์มีแต่โครงการ และตัวโครงการก็ไม่มีแผนงาน และไม่ต้องคืนเข้าคลังด้วยซ้ำไป ซึ่งตนมองว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลถือเป็นปรากฎการพิเศษ และเข้าตำราที่ว่ากู้ชาตินี้ใช้ชาติหน้า ซึ่งตนอยากจำขอย้ำว่าหนี้ดังกล่าวไม่ใช่ NPL แต่เป็น NLP คือ next life payment ซึ่งหมายถึงไปใช้หนี้คืนเอาชาติหน้า
ด้านนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา หารือไปยังรัฐบาลถึงกรณีที่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ทั่วประเทศมาชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลว่า ที่สำคัญคือการบริหารกองทุนเมื่อปี 2551 ขาดทุน ก็ไปลดรายได้ของข้าราชการ วันนี้ข้าราชการเรียกร้องผ่านรัฐบาล ผ่านพรรคประชาธิปัตย์ มาถึงรัฐบาลเพื่อไทย ก็ไม่มีความคืบหน้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ข้าราชการจึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขตามงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้แก้ไขมาตรา 63 ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ ก็ยังไม่แก้ วันนี้ข้าราชการก็เรียกร้องผ่านสภา ว่าทำอย่างไรรัฐบาลจะมีการแก้ไขพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 เพื่อให้ข้าราชการมีทางเลือก 2 ทาง คือสามารถรับบำนาญตามพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 คือแบบเดิม หรือรับตาม พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และทำอย่างไรจะเยียวยาข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารกองทุนกบข.ที่ขาดทุน รัฐบาลควรรีบดำเนินการด้วย หากจะยกร่างแก้ไขก็ควรรีบดำเนินการ