xs
xsm
sm
md
lg

“ศาลปกครองสูงสุด” ยกฟ้องชาวสระบุรี ยันออกใบอนุญาตธุรกิจฝังกลบกากอุตสาหกรรมไม่ผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ยกฟ้องสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ออกใบอนุญาตธุรกิจฝังกลบกากอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว ชี้ไม่อยู่ในบริเวณที่ต้องห้าม จึงไม่ใช่การใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วันนี้ (20 มี.ค.) ศาปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้ยกฟ้อง คดีที่นายยงยศ หรือพศ อดิเรกสาร กับพวกรวม 126 คน ซึ่งเป็นชาวบ้าน จ.สระบุรี ยื่นฟ้องอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี, อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยแห้ง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 โดยบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายจากการถูกกล่าวหา ร่วมผู้ร้องสอดด้วย เรื่องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานทางปกครอง ออกคำสั่งโดยมิชอบ และละเลยต่อหน้าที่ที่ให้ต้องปฏิบัติโดยล่าช้าเกินสมควร กรณีที่ผู้ถูกฟ้องออกใบอนุญาตให้ บจก.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน ทำธุรกิจฝังกลบ กากอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วไม่เป็นอันตราย โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบริษัทกระทำการปลอมเอกสารเพื่อขอใบอนุญาต นอกจากนี้บริษัทยังไม่ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และกระทำการฝังกลบเกินกว่าคำขอจนเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ใกล้ด้วยเนื่องจากสารพิษต่างๆ ผู้ฟ้อง จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการที่ผู้ถูกฟ้องคดีออกให้กับบริษัท

คดีนี้ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 50 โดยให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า ในการออกใบอนุญาตที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 ออกให้แก่ บจก.เบตเตอร์ฯ ผู้ร้องสอด ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานนั้น บริษัท ผู้ร้องสอดได้เตรียมการและประสานงานกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1- 2 ที่มีการตรวจสอบสถานที่และเตรียมเอกสารล่วงหน้าแล้ว จึงไม่ใช่กรณีที่มีการดำเนินการทุกอย่างในวันเดียวกันกับที่ยื่นคำขออนุญาต อีกทั้งการแก้ไขสถานที่ตั้งโรงงานเป็นแก้ไขข้อบกพร่องที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญที่จะกระทบต่อความสมบูรณ์ของใบอนุญาต ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ จึงไม่ใช่กรณีการขออนุญาตตั้งโรงงานใหม่ ดังนั้น การออกใบอนุญาตจึงชอบตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนกระทำของผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เป็นการละเลยต่อหน้าที่หรือไม่ เห็นว่า ผลการตรวจสอบพบว่าการประกอบกิจการของ บริษัทผู้ร้องสอด มีสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายที่ยังไม่ถึงขนาดเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง และผู้ร้องสอดได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงตามคำสั่งมาโดยตลอด อีกทั้งผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำและตะกอนยังไม่สมบูรณ์พอที่จะสรุปว่ามีการแพร่กระจายของมลพิษ จึงไม่มีเหตุออกคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการ ดังนั้นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่แต่อย่างใด

ต่อมาผู้ฟ้องยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลโดยนายพรชัย มนัสศิริเพ็ญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวน และองค์คณะ พิเคราะห์แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สถานที่ตั้งโรงงานของ บจก.เบตเตอร์ฯ ผู้ร้องสอด เนื้อที่ประมาณ 252 ไร่ 37 ตารางวา อยู่บนที่ราบเชิงเขา ทิศเหนือติดต่อกับคลังเก็บวัตถุระเบิดของ บริษัท แม็คเคมซัพพลาย จำกัด พื้นที่รกร้างและป่าไม้ ถัดไปเป็นถนนลาดยาง นาข้าว สลับกับพื้นที่รกร้างและชุมนุมหนองปรือ ทิศใต้ติดต่อกับภูเขาไม้นอนและถนนลาดยางของ รพช. ถัดเป็นนาข้าวและพื้นที่เกษตรกรรม สลับกับพื้นที่รกร้างสลับสวนผลไม้ ทิศตะวันออก ติดต่อกับภูเขามะเกลือและชุมชนบ้านหนองปรือสลับกับพื้นที่รกร้าง ถัดไปเป็นเส้นทารถไฟขนส่งปูนซีเมนต์ของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) และทิศตะวันตก ติดต่อกับภูเขาไม้โค่นและชุมชนบ้านเขาไม้โค่นสลับกับพื้นที่รกร้าง ถัดไปเป็นถนนลาดยางของ รพช. ดังนั้นโรงงานของผู้ร้องสอด จึงไม่อยู่ในบริเวณที่ต้องห้าม ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ที่ออกตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีบริเวณเพียงพอที่จะประกอบกิจการ การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวจึงไม่ใช่การใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ฟ้องฟังไม่ขึ้นจึงพิพากษายืน


กำลังโหลดความคิดเห็น