xs
xsm
sm
md
lg

“วสันต์” โต้ข่าววินิจฉัยคดี “สมัคร” ผิดพลาด แค่ตำหนิรูปแบบการเขียนคำวินิจฉัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
ปธ.ศาล รธน.แจงปฏิเสธข่าววินิจฉัยคดี “สมัคร” ผิดพลาด เป็นการอ้างถึงรูปแบบการเขียนคำวินิจฉัย ไม่ใช่เนื้อหา ยอมรับไม่สบายใจหลังมีข่าวปรากฏทางสื่อ อีกด้านชี้ พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ควรได้รับการแก้ไข เพื่อเปิดโอกาสให้กับจำเลยเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ตามเจตนารมณ์ของ รธน.

วันนี้ (15 มี.ค.) นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวชี้แจงภายหลังกรณีที่มีข่าวว่าตนได้พูดในงานเสวนา “การรักษาดุลยภาพทางการเมืองของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย” โดยระบุถึงคำวินิจฉัยในคดีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีจัดรายการอาหาร “ชิมไปบ่นไป” ว่า ตนไม่ได้หมายความว่าคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวนั้นใช้ไม่ได้ แต่สิ่งที่มองว่าใช้ไม่ได้เป็นเรื่องของรูปแบบการเขียนคำวินิจฉัยไม่ใช่เนื้อหาของคำวินิจฉัยที่ตกเป็นข่าวแต่อย่างใด เพราะในการวินิจฉัยครั้งนั้นเมื่อตุลาการแถลงคดีด้วยวาจาเสร็จ ก็นำผลดังกล่าวมาเขียนในคำวินิจฉัยกลางทันที ดังนั้นในเรื่องของรูปแบบการร้อยเรียงของคำวินิจฉัยเลยออกมาดูไม่ดี อย่างไรก็ตามรู้สึกไม่สบายใจหลังมีข่าวออกมาในลักษณะเช่นนี้ว่าคำวินิจฉัยใช้ไม่ได้ ทั้งที่ข้อเท็จจริง ตนหมายถึงรูปแบบของคำวินิจฉัยเท่านั้น

นายวสันต์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 41 ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค ประกอบมาตรา 29 และมาตรา 40(2) (3) (4) และ (7 ) ว่า เรื่องนี้คงต้องไปดูในรายละเอียดของคำวินิจฉัยส่วนตนของแต่ละคนว่าให้ความเห็นไว้อย่างไร ซึ่งส่วนตัวคิดว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการสืบพยานในต่างประเทศของประเทศอื่นๆ ก็มีกันปกติ แต่ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติออกมาแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 นั้นไม่ดี เพียงแต่ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวควรมีรายละเอียดที่เปิดโอกาสให้กับฝ่ายจำเลยมากกว่านี้ เพราะรัฐธรรมนูญได้มีบทบัญญติไว้ว่า การดำเนินคดีทางอาญาจำเป็นจะต้องเปิดโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ โดยให้จำเลยได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เข้าถึงพยานและการตรวจสอบพยานหลักฐานได้หมด

ส่วนคำวินิจฉัยจะกระทบต่อการสืบพยานในต่างประเทศก็อาจจะมีส่วนกระทบบ้าง แต่ส่วนตัวคิดว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ควรได้รับการแก้ไขเพื่อที่จะได้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เพราะ กฎหมายใช้มานาน อีกทั้งยังออกมาก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ด้วยซ้ำ ในต่างประเทศเขาได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆเกี่ยวกับการนำสืบพยานที่ต่างประเทศไว้อย่างชัดเจน แต่ของประเทศไทยมีการกำหนดไว้อย่างหลวมๆ เท่านั้น ส่วนกรณีนี้หากมีการสืบพยานไว้แล้ว ก็จะนำคำพยานปากนี้มาเป็นหลักฐานไม่ได้เลย เพราะจะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น