xs
xsm
sm
md
lg

อนุ กก.จริยธรรม ยกคำร้อง “เหลิม” เมาในสภา และไม่เข้าข่ายดูหมิ่น-คุกคามหญิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
มติเอกฉันท์คณะอนุ กก.จริยธรรม ยกคำร้อง “เฉลิม” เมาช่วงประชุมสภา เหตุพิสูจน์ไม่ได้ แม้พบขวดเหล้า ยันมีสิทธิตอบโต้ไม่ถึงขั้นใช้วาจาดูหมิ่น และ โวหาร “ไม่เมาเหล้า เมารัก” ไม่ผิด ก่อนเรื่องถึง ปธ.สภา ถกอีกรอบถึงชงผู้ตรวจฯ

วันนี้ (14 มี.ค.) คณะอนุกรรมการจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณากรณี ที่ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหา ร.ต.อ.ฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี อาจกระทำการขัดต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองร้ายแรง จากการดื่มสุรา และคุกคามเสรีภาพของผู้อื่น ในระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.55

โดยคณะอนุกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาโดยแยกออกเป็น 3 ประเด็น คือ 1.พฤติกรรมของผู้ถูกร้องมีลักษณะเมาสุราหรือไม่ : โดยระบุว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ประธานสั่งพักการประชุม ทำให้ไม่มีการบันทึกไว้ และจากพยานหลักฐานตามคำร้องของผู้ถูกร้องไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่ามีการดื่มสุรา หรือมีอาการมึนเมาหรือไม่ และไม่มีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ที่จะยืนยันได้ว่าผู้ถูกร้องเมาสุรา แม้จะมีการพบหลักฐานขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดต่างๆ แต่ก็ยืนยันไม่ได้ว่าเป็นของผู้ใด คณะอนุกรรมการจึงมีมติเอกฉันท์ยกคำร้องในประเด็นดังกล่าว

2.การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้วาจาที่ไม่สุภาพอันเป็นการฝ่าฝืนข้อ 15 ของข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ หรือไม่ : โดยจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องของผู้ถูกร้องไม่ได้เป็นการใช้วาจาไม่สุภาพอันมีลักษณะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท เสียดสี หรือใส่ร้ายป้ายสีบุคคลใด และการที่ผู้ร้องกล่าวหาผู้ถูกร้องว่าเมาสุราระหว่างการประชุมรัฐสภา ทำให้เกิดการตอบโต้กันระหว่างสองฝ่าย ก็เป็นสิทธิ์ที่กระทำได้ โดยมีประธานรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมตามข้อบังคับการประชุม คณะอนุกรรมการจึงมีมติเสียงข้างมากว่าการกระทำของผู้ถูกร้องไม่เป็นการใช้วาจาไม่สุภาพ เนื่องจากไม่ครบองค์ประกอบตามข้อบังคับข้อที่ 15

และ 3.การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการคุกคามหรือระรานทางเพศอันเป็นการฝ่าฝืนข้อ 28 ของข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ หรือไม่ : โดยเห็นว่าคำพูดของผู้ถูกร้อง “ผมไม่ได้เมาเหล้า แต่ผมเมารัก” เป็นการใช้คำในลักษณะการตอบโต้กัน โดยใช้สำนวนโวหารตามบทกลอนของสุนทรภู่ ซึ่งเป็นที่ติดปากของประชาชนคนไทยทั่วไป จึงไม่มีลักษณะเป็นการคุกคาม หรือระรานทางเพศ หรือทำให้ผู้อื่นหวาดกลัว คณะอนุกรรมการจึงมีมติเสียงข้างมาก เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการคุกคามหรือระรานทางเพศตามข้อ 28 ของข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม

ทั้งนี้แม้คณะอนุกรรมการจะมีมติยกคำร้องดังกล่าว แต่บทสรุปของอนุกรรมการยังไม่ถือว่าสิ้นสุด เนื่องจากต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน เพื่อพิจารณาต่อไป พร้อมควรให้มีชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ทราบต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น