“พล.ต.อ.วสิษฐ” ยืนยัน “ในหลวง” ไม่ทรงยุ่งเกี่ยวความขัดแย้งทางการเมือง เชื่อมีขบวนการล้มสถาบันฯ อยู่จริง เพื่อหวังเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ โต้ “สมศักดิ์ เจียมฯ” อย่าเอาตำราฝรั่งมาเทียบ เพราะแต่ละประเทศก็นับถือประมุขในแบบที่ต่างกันออกไป
วันที่ 13 มี.ค. พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ กล่าวในรายการ “ตอบโจทย์ประเทศไทย” ทางไทยพีบีเอส ถึงการนิรโทษกรรมว่า ถ้าหากว่าการนิรโทษฯทำให้เกิดความสงบในบ้านเมืองก็ควรจะทำ แต่ไม่ควรครอบคลุมไปถึงแกนนำที่ยุยงส่งเสริมให้เกิดความวุ่นวาย ต้องทำความเข้าใจว่ามันได้แค่ไหนอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะเลยเถิด คนที่เลยแกนนำขึ้นไปอีกจะได้นิรโทษกรรมไปด้วย
เมื่อถามถึงกรณีนักโทษมาตรา 112 ที่โพสต์ข้อความหมิ่นฯตามโซเชียลมีเดีย ควรได้รับการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ พล.ต.อ.วสิษฐกล่าวว่า ต้องดูว่าทำไมถึงได้เขยิบไปถึงมาตรา 112 เรื่องอะไรทำไมถึงได้เลยเถิดไปถึงตรงนั้น มันไม่จำเป็นต้องขยายความด้วยซ้ำไป ถ้าเป็นเรื่องทะเลาะกันระหว่างรัฐบาล มันเห็นชัดอยู่แล้วแต่ทำไมต้องเขยิบไปถึงตรงโน้น พอไปถึงตรงโน้นมันเป็นความผิดคนละเรื่องกัน ก็ต้องใช้กฎหมายฉบับนั้น ต่อให้อยู่ในโซเชียลมีเดียแต่แตะมาตรา 112 ก็ไม่ควรนิรโทษกรรม
เมื่อถามว่าตัวประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีปัญหาด้วยตัวของมันเองหรือเปล่า พล.ต.อ.วสิษฐ ตอบว่า มาตรานี้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องความมั่นคงของราชอาณาจักร ไม่ใช่เรื่องของบุคคล เพราะฉะนั้นคนที่ไปดึงพระมหากษัตริย์มายุ่งกับเรื่องคนธรรมดา แปลว่าไม่เข้าใจ เพราะเมืองไทยปกครองโดยระบอบพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญนั้นเองที่ยอมรับว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสูงสุดผู้ใดจะละเมิดมิได้ เขียนในรัฐธรรมนูญมาทุกฉบับตั้งแต่มีการยึดอำนาจปี 2475 จนถึงทุกวันนี้ ไม่เคยมีฉบับไหนไม่ยอมรับพระมหากษัตริย์ แล้วรัฐธรรมนูญนั้นคือภาพสะท้อนเจตนารมรณ์ของประชาชน ฉะนั้น แปลว่าฐานะพระมหากษัตริย์ได้รับการรับรองโดยประชาชนมาตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุนั้นกฎหมายไทยจึงได้ผูกพระมหากษัตริย์กับความมั่นคงของประเทศเอาไว้ด้วยกัน ทีนี้การทะเลาะกันทางการเมืองระหว่างสองฝ่ายก็ไม่น่าไปเกี่ยวกับสถาบันฯ อยู่แล้ว แต่กลับไปก้าวก่าย ไปด่าท่าน มันก็หนีไม่พ้นต้องใช้มาตรา 112 จัดการคนผิด
ผู้ดำเนินรายการถามว่า ก่อนปี 2548 คดีความผิดมาตรา 112 มีน้อยมาก แต่หลังจากมีการชุมนุมทางการเมืองแล้วเอาสถาบันฯ มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเอาชนะทางการเมือง คดีก็มากขึ้น สามารถอธิบายได้อย่างไร พล.ต.อ.วสิษฐกล่าวว่า ที่บอกว่าดึงสถาบันฯมาเป็นเครื่องมือเพื่อเอาชนะทางการเมือง ทำไมไม่คิดกลับกันว่ามีการดึงสถาบันฯ มาย่ำยี เพื่อให้แลดูว่าสถาบันฯ ไม่มีราคา ซึ่งต้องช่วยกันดูว่าทำไมอยู่ดีๆ มีการทะเลาะทางการเมือง แล้วจู่ๆมีการลบหลู่พระมหากษัตริย์ขึ้นมาอย่างกว้างขวาง ใครเป็นคนใช้สถาบันนี้เป็นเครื่องมือ เพื่ออะไร ถ้าจะอ้างว่าฝ่ายหนึ่งอ้างความเทิดทูนเอามาเป็นเครื่องมือเพื่อเอาชนะ นั่นก็อันนึง แต่นึกบ้างหรือเปล่าว่ามีคนที่ย่ำยีสถาบันฯ เพื่อให้ดูว่ามีคนไม่เอาสถาบันมากขึ้นๆ มันเป็นฝีมือใคร
เมื่อถามว่าอธิบายความอย่างไรว่าทำไมเกิดการย่ำยีสถาบันฯอย่างกว้างขวางในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พล.ต.อ.วสิษฐตอบว่า ตนเชื่อว่ามีคนอยู่คนหนึ่งหรือคณะหนึ่ง ตั้งใจที่จะทำเรื่องนี้ แล้วก็ไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรมากเลย คอมพิวเตอร์ตัวเดียว แบกไปอยู่ส่วนไหนของโลกก็ได้ แล้วก็ทำสงครามไซเบอร์เข้ามาทำกับประเทศไทยขณะนี้
ผู้ดำเนินรายการถามต่อว่า ถ้าคนนั้นมีอยู่จริง เขาทำเพื่ออะไรแล้วไปสู่เป้าหมายอะไร พล.ต.อ.วสิษฐกล่าวว่า ทำเพื่อประเทศไทยจะไม่มีระบอบการปกครองแบบพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต่อไปอีก เขาคงอยากจะเห็นสาธารณรัฐเกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งดูจากพฤติกรรมแล้วตนเชื่อว่ามีจริง
เมื่อถามว่าใครได้ประโยชน์เมื่อประเทศไทยเดินไปสู่สาธารณรัฐ พล.ต.อ.วสิษฐกล่าวว่า ต้องคิดกันเอาเองว่าใคร ตนเชื่อว่ามีจริง ดูเอาจากพฤติกรรม กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา อย่างที่ทำกันอยู่ปัจจุบันจะให้แปลว่าอะไร ถ้าไม่ใช่ทำเพื่อล้มระบอบนี้
พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวด้วยว่า เรื่องการเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันฯ หรือระบอบ มันมีอยู่ทั่วโลก สุดแต่ว่าจะทำกันอย่างไรเท่านั้นเอง แต่ถ้าจะมองไทยเราต้องดูเลยราชวงศ์จักรีขึ้นไป ต้องดูตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพราะเราอยู่กันมาได้ถึงทุกวันนี้เพราะการต่อเนื่องของการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อก่อนอยู่เหนือกฎหมาย แล้วตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา อยู่ภายใต้กฎหมาย ฉะนั้นสิ่งที่ควรรู้กันคือความต่อเนื่องของเมืองไทย ที่ทำให้ไทยเป็นไทยอยู่ทุกวันนี้
พล.ต.อ.วสิษฐได้เล่าถึงประสบการณ์ในการติดตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า ตนเข้าไปรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในตำแหน่งตำรวจราชสำนักประจำ ตั้งแต่ปี 2513-2524 ช่วงเวลาประมาณ 12 ปี รับใช้พระมหากษัตริย์โดยใกล้ชิด เพื่อถวายความปลอดภัย ช่วงนั้นมีการคุกคามจากคอมมิวนิสต์รุนแรงมาก มีการรบราฆ่าฟันกัน ทหาร ตำรวจ พลเรือน อาสาสมัคร ตายกันบางปีถึงพันคน ทุกปีพระองค์ต้องเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพคนที่ตาย ทั้งๆที่การคุกคามระบาดไปเกือบทั่วทุกภาคของประเทศ ตนยืนยันได้พระเจ้าอยู่หัวของเราไม่เคยทรงหยุดที่จะเสด็จออกไปเยี่ยมประชาชน ทำสม่ำเสมอมาตลอดเวลา ปีหนึ่งๆ เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับในส่วนต่างๆของประเทศประมาณ 6 เดือน อยู่กรุงเทพฯ 6 เดือน และแม้กระทั่งอยู่กรุงเทพฯ ก็ยังเสด็จพระราชดำเนินออกไปเยี่ยมเช่นกัน
การเสด็จพระราชดำเนินบางครั้งเข้าไปในบริเวณวิกฤต ขนาดที่ว่าเพิ่งปะทะต่อสู้กันไปหยกๆ แต่พระเจ้าอยู่หัว-สมเด็จพระราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินไปโดยไม่ทรงหวั่นไหวหรือรู้สึกกระทบกระเทือนจากเหตุการณ์ แล้วไปถึงก็ต้องเยี่ยมหมดทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน เคยรับสั่งให้ได้ยินอยู่เสมอว่า “ประชาชนอยู่ที่ไหนเราต้องไปถึงที่นั่น” ทั้งนี้โดยไม่สำคัญว่าเหตุการณ์ที่นั่นรุนแรงหรือไม่รุนแรงแค่ไหน ท่านเสด็จไปแม้เห็นชัดว่าเป็นพื้นที่ของคอมมิวนิสต์ เวลาไปท่านพระราชทานความสนพระทัยเสมอกันหมด
กรณีที่มีการโยงพระมหากษัตริย์กับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ตนยืนยันได้ว่าไม่มีครั้งใดเลยที่ท่านเข้าไปยุ่งเกี่ยว หรืออยู่เบื้องหลังการปราบปราม ผู้ที่เข้าใจเช่นนี้ เข้าใจผิด หรือมีเจตนาปรักปรำให้เกิดความไม่เลื่อมใสต่อพระมหากษัตริย์ ช่วง 12 ปี ที่ตนรับราชขการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท เคยเห็นแต่ว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น แล้วในที่สุดรัฐบาลแก้ไม่ได้ พระเจ้าอยู่หัวจะทรงลงมา เช่นตอนปี 2516 ที่มีจลาจล จอมพล ถนอม กิตติขจร ต้องทิ้งตำแหน่งออกนอกประเทศ โดยรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าตั้งรัฐบาลใหม่อย่างไร พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงออกมาแก้ปัญหาให้ โดยตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกฯ แต่ท่านก็ตระหนักว่าเป็นนายกฯ พระราชทานอยู่ไม่ได้นาน แต่งตั้งเพียงเพื่อรอให้ประชาธิปไตยเขาร่องเข้ารอยอย่างเดิมเท่านั้น
“พระเจ้าอยู่หัว ไม่เคยเสด็จเข้ามาทรงวุ่นวายอะไรกับการเมือง เว้นแต่เมื่อจำเป็นจริงๆ ไม่มีทางเลือกแล้ว แล้วคนอื่นไม่รู้จะเลือกยังไง ซึ่งต้องมารบกวนเบื้องพระยุคลบาท นั่นคือบทบาทพระเจ้าอยู่หัวที่ผมเห็น เรื่องที่นึกว่าท่านไปอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งอันโน้น อันนี้ แล้วสนับสนุนปราบปรามคนโน้นคนนี้ เป็นเรื่องปรักปรำ เรื่องกล่าวหา ผมยืนยันได้” พล.ต.อ.วสิษฐกล่าว
เมื่อถามว่าคิดอย่างไรที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล บอกว่าไม่มีวิธีทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่คิดอย่างไร พล.ต.อ.วสิษฐกล่าวว่า มันก็ไม่มีจริงๆ แต่มันไม่จำเป็นต้องใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ อยากรู้คนไทยส่วนใหญ่คิดอะไรแค่เดินไปตลาดคุยกับชาวบ้านก็รู้แล้ว คนไทยส่วนใหญ่ในความรู้สึกตนยังเคารพสถาบันฯ อยู่ และรู้สึกว่าการมีสถาบันฯ ทำให้เขาอยู่ได้อย่างทุกวันนี้
ส่วนที่บอกว่ามาตรา 112 ทำให้ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เลยไม่สามารถบ่งบอกถึงความคิดของคนส่วนใหญ่ได้จริง ตนว่ามันไม่เกี่ยวกัน เมื่อมาตรา 112 สะท้อนความมั่นคงของราชอาณาจักร มันต้องยอมส่วนนั้นเอาไว้ จะมาอ้างว่ามาตรา 112 เป็นอุปสรรคมันไม่ใช่ ตนไม่เห็นว่ากฎหมายนี้จะกระทบการพัฒนาประเทศตรงไหน แต่ทำไมมันเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา เพราะมีคนจงใจหยิบขึ้นมาให้เป็นปัญหา พระที่แท้จริงพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์มีจำกัด มันไม่ใช่เลิกมาตรา 112 เพื่อจะด่าพระเจ้าแผ่นดินให้สบายๆ จะด่าทำไม ในเมื่อฐานะท่านถูกจำกัดอยู่แล้ว
กรณีนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล บอกว่าประมุขของรัฐเป็นคนสาธารณะสมควรถูกวิจารณ์ได้เพื่อปรับปรุงเช่นเดียกันกับสหราชอาณาจักร นายสมศักดิ์ไปเอาตำราฝรั่งมาใช้กับเมืองไทย แต่ละประเทศนับถือประมุขของประเทศอย่างไร แล้วแต่ละประเทศ อย่าเทียบเคียงกัน เขานับถือในแบบของเขาไม่ควรหยิบตำราเขามาใช้กับเมืองไทย ดูเมืองไทยต้องดูประวัติศาสตร์ ดูความรู้สึกของคนไทย ไม่ต้องใช้วิทยาศาสตร์
ต่อข้อถามที่ว่าการพิพากษาคดีมาตรา 112 ทำให้เกิดกระบวนการโจมตี แล้วต่างชาติก็เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะรับมือกับเกมนี้อย่างไร พล.ต.อ.วสิษฐกล่าวว่า ไม่มีทางอื่นเลยนอกจากคนไทยต้องแสดงตัวและประกาศให้รู้ว่าทำแบบนี้ไม่ได้ บอกให้ต่างประเทศรู้ว่าเขาทำแบบนี้แปลว่าเป็นศัตรูกับเรา ถามเขาด้วยว่าไปฟังอะไรมาจากใคร เวลานี้ใครบ้างไปนั่งเขียนศึกษาเรื่องเมืองไทยให้พวกนี้อย่างผิดๆ
สถาบันฯ ได้รับการทดสอบแล้วด้วยกาลเวลา ว่าเป็นระบอบที่ใช้ได้กับประเทศไทย ถ้าต้องการทดสอบด้วยการเอาใครมาเป็นประมุขของประเทศ ตนรับไม่ได้