xs
xsm
sm
md
lg

ภาคีต้านโกง ยืนสอบ ป.ป.ช.ตั้ง “ศศิธารา” ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รักษเกชา แฉ่ฉาย (แฟ้มภาพ)
ภาคีต่อต้านคอร์รัปชันภาคใต้ ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบ 9 ป.ป.ช.ตั้ง “ศศิธารา” ที่พัวพันทุจริตคุรุภัณฑ์ เป็นอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต “กล้านรงค์” แจงกระทรวงศึกษาฯ เป็นผู้เสนอชื่อมา ไม่เกี่ยว ป.ป.ช.

วันนี้ (12 มี.ค.) นายเจษฎา เทพเลื่อน ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันภาคใต้ตอนบน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้ง 9 คน กรณีมีคำสั่งแต่งตั้ง น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา ที่พัวพันกรณีการทุจริตคุรุภัณฑ์อาชีวศึกษาจำนวน 5,300 ล้านบาท ให้ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตโดยใช้กลไกทางการศึกษา (อนุกรรมการ ป.ป.ช.) ถ้าตรวจสอบแล้วผิดจริงให้ส่งเรื่องไปยังวุฒิสภาเพื่อดำเนินการถอดถอนออจากตำแหน่ง และถ้าพบว่ามีการสมยอมกันเรื่องคดีหรือถ่วงคดี ให้รวบรวมหลักฐานเพื่อส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นายเจษฎากล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เคยตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง น.ส.ศศิธาราหลายชุด และมีข้อสรุปตรงกันว่ามีการทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวะจริง โดยซื้อแพงกว่าความเป็นจริงถึง 4 เท่าตัว ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษก็มีมติชี้มูลความผิดและส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งแต่เดือน ต.ค. 55 โดย ป.ป.ช.ได้ตั้งให้นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้สอบคดีนี้ แต่ในเดือน ธ.ค. 55 ป.ป.ช.กลับตั้ง น.ส.ศศิธาราเป็นหนึ่งในอนุกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งจะเท่ากับว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมสนับสนุนผู้ที่ ป.ป.ช. กำลังถูกสอบสวนในฐานทุจริตต่อหน้าที่ทางราชการ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นถึงอนุกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ชาติใช่หรือไม่

“ถ้าใช่ ต่อไป ป.ป.ช.ก็ควรที่จะตั้งผู้มีความรู้ในทางทุจริต เช่น นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดคมนาคม พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม นายรังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.เป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรืออนุกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อเป็นการคืนคนดีสู่สังคม”

ด้านนายรักษเกชากล่าวว่า จะให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบคำร้องว่าอยู่ในอำนาจของผู้ตรวจหรือไม่ และครั้งนี้เป็นการให้ตรวจสอบจริยธรรมและถอดถอน ป.ป.ช. ทางผู้ตรวจการแผ่นดินคงต้องไปตรวจสอบประมวลจริยธรรมของ ป.ป.ช. ว่าหากเป็นการถอดถอน ป.ป.ช.ผู้ตรวจต้องยื่นเรื่องไปที่ใด

ด้านนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง ป.ป.ช.กับกระทรวงศิกษาธิการ ตามแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการปราบปรามทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างค่านิยมทัศนคติให้กับนักเรียน ดังนั้น คณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นการเสนอชื่อมาจากกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้เป็นผู้เลือก จึงถือว่าเป็นคนละประเด็นกับการไต่สวนกรณีทุจริต


กำลังโหลดความคิดเห็น