xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” ท่องคาถา “นิรโทษฯ” เรื่องของนิติบัญญัติ ปัดให้ “นิวัฒน์ธำรง” คุมระบายข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
นายกฯ ย้อนถามสื่อ พท.สลับเก้าอี้ ครม.มาจากไหน ยันอำนาจอยู่ที่ตัวเอง ไม่หวั่น ส.ส.เพื่อไทยเดินหน้านิรโทษกรรมกระทบบริหารประเทศ พูดซ้ำซากเป็นหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ หนุนเวทีหาทางออกปรองดอง เผยยังเดินหน้ารับจำนำข้าว อุบปัญหาระบายข้าวโยนให้พาณิชย์แจง ปัดเปลี่ยนให้ “นิวัฒน์ธำรง” รับผิดชอบ

วันนี้ (12 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. ภายหลังประชุม ครม. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการปรับคณะรัฐมนตรี หลังจากที่พรรคชาติไทยพัฒนายืนรายชื่อมานานแล้ว ว่าถ้ามีความคืบหน้าแล้วจะแจ้งให้ทราบ ผู้สื่อข่าวถามว่ามีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งจริงเท็จแค่ไหน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า กระแสข่าวไหนยังไม่เคยได้ยินเลย ซึ่งทุกอย่างอยู่ที่ตัวเอง จึงได้ถามว่ากระแสข่าวมาจากไหน เพราะตัวตนเองยังไม่ได้ให้ข้อมูลใครเลย เมื่อถามว่า ทำไมยังไม่ปรับติดขัดปัญหาอะไร นายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยวก็ปรับอยู่แล้ว แต่คงต้องดูว่าจะปรับเมื่อไหร่ ก็ยังไม่ได้เตรียมตัว

ส่วนกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเดินหน้าเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สไกป์ส่งสัญญาณให้เดินหน้าเรื่องนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า คงต้องขออนุญาตเรียนคำตอบเดิม เรื่องการออกพระราชบัญญัติเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งตอนนี้ทราบว่ามีหลายฉบับ คงต้องให้ทางวิปทั้ง 3 ฝ่ายไปตกลงกันในรายละเอียดว่าจะอย่างไรต่อไป

เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ บอกว่าผู้บริหารประเทศไม่ควรบริหารประเทศอย่างเดียว โดยไม่สนใจเรื่องการเมือง และเห็นว่าการบริหารประเทศกับการเมืองต้องเดินไปด้วยกันเพื่อความสมดุล นายกฯ กล่าวว่า ต้องเรียนว่าการบริหารประเทศกับการเมืองยืนยันว่าเป็นของคู่กัน แต่ไม่ได้บอกว่าการบริหารทางการเมืองจะเกี่ยวข้องกับการร่างนโยบายหรือ พ.ร.บ.ใดๆ อันนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งต้องเรียนว่าฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติต่างกัน โดยหน้าที่ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน คือเศรษฐกิจ ในแง่ของการเมืองคือการที่ทำอย่างไรให้ประชาชนคนไทยมีความสงบและมีความรักความสามัคคี ปรองดอง นี่คือเรื่องของการเมือง

เมื่อถามว่า ได้ถามกฤษฎีกาถึงความคืบหน้าที่ให้ไปดูในข้อกฎหมาย เกี่ยวกับเรื่องพ.ร.บ.ปรองดอง และ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมหรือยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ได้ให้ฝ่ายเลขาฯติดตามอยู่ แต่ยังไม่ได้รับรายงานจากทางเลขากฤษฎีกา เมื่อถามว่า เรื่องการเดินหน้าพ.ร.บ.ปรองดองถูกพ.ต.ท.ทักษิณกดดันหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ ทุกอย่างจริงๆ แล้วต้องเรียนว่าเราอยากเห็นพี่น้องประชาชนมีทางออก และเราเห็นใจกับผู้ที่ประสบปัญหาต่างๆ ซึ่งเราเองอยากให้มีการพูดคุยกันเพื่อหาทางออก เพราะวันนี้มีหลายอย่างที่จะให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะพูดคุยกันต่อไป ที่สำคัญพูดคุยอย่างไรให้มีทางออกด้วย

เมื่อถามว่า เดินหน้าเรื่องเหล่านี้ทีไรก็เจอกับดัก กระทบกับการบริหารประเทศของนายกฯหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่ งานบริหารประเทศก็เดินไป อย่างที่เรียนตราบใดที่การพูดคุยกันทางการเมืองยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และอยู่ในความสงบ เราก็สามารถที่จะเดินหน้าได้ ก็ต้องเรียนว่าเราเองอยากเห็นเวทีที่มีการพูดคุยกัน เพื่อให้มีทางออก แต่ก็ไม่อยากเห็นการใช้ความรุนแรง ฉะนั้นการพูดคุยกันเพื่อให้เกิดทางออกก็เป็นสิ่งที่ดี และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลายๆภาคส่วน และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องก็เป็นสิ่งที่ควรจะสนับสนุน เมื่อถามว่า แสดงว่านายกฯ ไม่หวั่นว่าจะกระทบต่อการบริหารประเทศ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่หวั่น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงมติ ครม.โดยปฏิเสธว่าไม่ได้มอบหมายให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบดูแลเรื่องการระบายข้าวจากโครงการการรับจำนำข้าว การกำกับดูแลและรับผิดชอบยังเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการระบายข้าวเช่นเดิม นายนิวัฒน์ธำรงทำหน้าที่ในฐานะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในการติดตามนโยบายแต่ละเรื่องของรัฐบาล ไม่ได้แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ดูแลเรื่องการระบายข้าวเพียงอย่างเดียว นายนิวัฒน์ธำรงเพียงทำหน้าที่ประสานงานเพื่อให้ได้ข้อมูลตามมติ ครม.เท่านั้น ไม่ได้ลงไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการระบายข้าว ทั้งหมดยังเป็นเรื่องของคณะกรรมการระบายข้าวเหมือนเดิม ส่วนรายละเอียดการดำเนินการเรื่องการระบายข้าวนั้นคงต้องให้คณะกรรมการฯเป็นผู้ชี้แจง เพียงแต่รัฐบาลได้เน้นย้ำวิธีการระบายให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและเปิดโอกาสให้กับทุกๆ คน

เมื่อถามว่า ทำไมรัฐบาลยังคงเดินหน้าในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งๆ ที่มีปัญหาหลายอย่าง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นโยบายการจำนำข้าวเป็นนโยบายที่รัฐบาลเสนอไว้ต่อรัฐสภาและประชาชน ซึ่งจากแบบสำรวจวันนี้ประชาชนยังคงเรียกร้องและยืนยันอยากให้มีนโยบายรับจำนำข้าวต่อไป รัฐบาลจึงเดินหน้าต่อไป ส่วนการปรับปรุงในเรื่องต่างๆ ก็เป็นขั้นตอนของคณะทำงานที่จะต้องนำระเบียบและข้อคิดเห็นไปปรับปรุงเพื่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนปัจจุบันมีจำนวนข้าวอยู่ในสต็อกจากโครงการรับจำนำข้าวจำนวนเท่าไหร่ตนไม่ทราบ คงต้องให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ชี้แจง

เมื่อถามว่า มติ ครม.วันเดียวกันนี้ (12 มี.ค.) มีการอนุมัติขยายกรอบวงเงินกู้จำนวน 7.5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้เกี่ยวกับการระบายข้าวใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่ เป็นเรื่องการปรับกรอบวงเงินหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.เดิมและอยู่ในกรอบวงเงินเดิม ไม่เกี่ยวกับเรื่องการระบายข้าวโดยเฉพาะ ถือเป็นการรันตามปกติรอบในเรื่องของการประมาณหนี้ ทุกอย่างก็เป็นไปตามมติของที่ประชุมซึ่งผ่านความเห็นชอบแล้ว และปรับวงเงินตามที่มีการใช้จ่ายจริงตามวงเงินเดิม

จากนั้นผู้สื่อข่าวพยายามถามย้ำถึงปัญหาการระบายข้าวที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ จนทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเลี่ยงและปฏิเสธที่จะตอบคำถามต่างๆ โดยระบุว่าให้ไปตามรายละเอียดกับกระทรวงพาณิชย์บ้างดีกว่า เปลี่ยนประเด็นคำถามบ้าง เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น