“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” งดจ้อทีวี ส่ง “กิติติรัตน์-ชัชชาติ” แจงความจำเป็นในการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อลงทุนฟื้นฐานโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ยันจำเป็นต้องลงทุนลอจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงและให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ พร้อมย้ำยึดวินัยการคลัง เตรียมชงร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาฯ ก่อนเม.ย.นี้
รายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” เช้าวันนี้ (2 มี.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี งดจัดรายการ โดยมอบหมายให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจง ถึงยุทธศาสตร์การลงทุนของประเทศ ในการลงทุนโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่ง วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรี เห็นชอบวงเงินดังกล่าวเมื่อวันพุธที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา
นายกิตติรัตน์กล่าวว่า กระทรวงการคลังทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคม เสนอยุทธศาสตร์ให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบในหลักการว่าจะลงทุนโครงสร้างระบบโทรคมนาคมขนส่ง ทั้งทางราง ทางน้ำ ขนส่ง ซึ่งจะเสนอ ครม.อีกครั้ง แต่ก่อนจะเสนอ ครม. จะนำแนวทางเสนอต่อสาธารณชนเพื่อรับทราบและฟังความเห็น นำความเห็นมาปรับปรุง จากนั้นจะนำ พ.ร.บ.ฯ เสนอต่อรัฐสภา ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ภายในสมัยประชุมนี้ หรือก่อนกลางเมษายน กรอบวงเงินลงทุนใหญ่ เราพูดกันที่ 2 ล้านล้านบาท คำนวณตามกรอบวินัยการคลังแล้ว มีความพร้อม คุ้มค่า และคุมยอดรวมวินัยการคลังได้เป็นอย่างดี
นายกิตติรัตน์กล่าวว่า การเป็นหนี้ของประเทศเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง แต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เราเข้มงวดเรื่องกำหนดหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เราไม่ควรมีหนี้ถึงร้อยละ 60 แต่ตอนนี้หนี้สาธารณะของเราอยู่ที่ร้อยละ 43 และร้อยละ 8 เป็นหนี้สาธารณะที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณ เพราะฉะนั้นหนี้สาธารณะของเราอยู่ในระดับที่ต่ำ การลงทุนครั้งนี้รักษาวินัยการคลังได้เป็นอย่างดี และไม่ได้กู้ทันที มีการทยอยลงทุน การทยอยมีหนี้ขยับขึ้นไปตามขนาดเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เราควบคุมไม่ให้หนี้เกินร้อยละ 15 ของงบประมาณประจำปี ที่สำคัญขณะที่ลงทุนไประบบโครงสร้างจะดีขึ้นเรื่อยๆ ประหยัดในด้านการสูญเสียทางเศรษฐกิจ
สำหรับแหล่งเงินกู้ เรามีสภาพคล่องที่เกิดจากความสำเร็จในการส่งออกสุทธิที่เป็นบวกอย่างเพียงพอมากมาย และสภาพคล่องที่ว่าคนอาจจะบอกว่าอยู่ที่ไหน ความจริงก็อยู่ในระบบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็จำเป็นต้องดูสภาพคล่องไม่ให้ล้นทะลัก แทบพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าถ้าจะลงทุน 2 ล้านล้านบาท โดยไม่กู้เงินจากต่างประเทศเลยแม้แต่บาทเดียวก็ทำได้ เพราะมีสภาพคล่องเพียงพอในฐานะที่เป็นเงินบาทและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ถ้าจะกู้จากต่างประเทศบ้าง เพื่อให้ยังคงอยู่ในวงการเงินระหว่างประเทศ แต่จะพยายามใช้เงินกู้จากต่างประเทศให้น้อยที่สุด และเราก็ต้องการจัดการกับสภาพคล่องส่วนเกินที่มีด้วย
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โครงการต่างๆ ที่มีอยู่เราพร้อมทำงานร่วมกับเอกชน แต่ก็ต้องตอบโจทย์ว่าพร้อมทำงานด้วยตัวเองหรือไม่หากเอกชนยังรีรอ เราก็พร้อมที่จะลงทุนเอง แต่ในส่วนของการลงทุนบางด้าน ก็สามารถลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนได้ และมีกฎหมายใหม่ออกมาแล้วที่จะสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชนได้ ซึ่งรัฐก็ยินดีหากเอกชนสนใจ รัฐก็จะกู้ยืมน้อยลง เพราะหลายโครงการการต้องการการบริหารจัดการที่คล่องตัว ก็จะมีเอกชนเข้ามา แต่หลายโครงการ การกู้โดยภาครัฐก็มีต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำกว่าเอกชน ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า จะดำเนินการด้วยความโปร่งใส ถูกต้องเป็นหลัก
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาช่วงระยะเวลา 15 ปี ประเทศไทยเรามีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่น้อยมาก จะมีการลงทุนครั้งใหญ่ประมาณปี 2539 และ 2540 ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นของงบประมาณแล้ว ตัวค่าชี้วัดปกติคือต้องไม่น้อยกว่า 25% ใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ปี 2539 และ 2540 เราลงทุนถึง 35-40% พอมีวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ผ่านมา 5 ปีหลังอยู่ประมาณ 15% ทำให้สภาพโครงสร้างพื้นฐานเราทรุดโทรมมาก ถ้าเราไปดู ranking ของโลกจะอยู่ในอันดับประมาณ 49 ขณะที่เพื่อนบ้านเรา เช่น ประเทศมาเลเซียอยู่ที่ 29 ตัวสำคัญที่ทำให้ความสามารถด้านแข่งขันของเราแข่งกับเพื่อนบ้านยากขึ้น เพราะต้นทุนในการขนส่งสูง ด้านการเชื่อมโยง ลอจิสติกส์สูง ใน 10 ปีข้างหน้า ถ้าเราไม่ทำอะไร เราจะยิ่งถอยลงมาเรื่อยๆ ฉะนั้นเป็นตัวสำคัญ ถึงเวลาที่เราจะต้องลงทุนแล้ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ถามว่าทำไมต้องมาลงทุนเป็นครั้งใหญ่ ที่ผ่านเราพยายามเจียดงบประมาณ บางอย่างทำเป็นงบประมาณแล้วทำไม่ได้ทั้งโครงการ ถนนเส้นยาวๆ ยุทธศาสตร์ทำ 1 ปี 10 กิโลเมตร กว่าจะครบ 100 กิโลเมตรก็ 10 ปี ดังนั้นก็เป็นแนวคิดว่าเราลงทุนครั้งใหญ่ดีกว่า เพื่อจะให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เรียกว่าพลิกโฉมประเทศ
“โครงการจริงๆ เริ่มอยู่แล้ว หลายๆ โครงการ เช่น เรื่องรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เรามีการเริ่มอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าเราจะเริ่มก่อสร้างคือ 3 ปี จะเริ่มเห็นผล แต่โครงการ 2 ล้านล้านบาท จะใช้เวลาประมาณ 7 ปี ที่จะใช้เวลาในการก่อสร้างและการลงทุน”