xs
xsm
sm
md
lg

วาดะห์ถกดับไฟใต้ “เฉลิม” เสนอใช้ 6 อำเภอ- “วันนอร์” อ้างลงนามโจรแค่จุดเริ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำกลุ่มวาดะห์
วาดะห์ร่วมถกไฟใต้ เสนอรัฐใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ 6 อำเภอ จว.ชายแดนใต้ เผยมีนาฯ “เหลิม” ลงยะลาถกภาคประชาชน “วันนอร์” หนุนฝ่ายค้านร่วมแจม หวังปัญหาจะดีขึ้น แต่อย่าเพิ่งหวังลงนามโจรแล้วจะยุติ อ้างแค่จุดเริ่มต้น ขอบคุณมาเลย์ช่วย แนะต้องให้โอกาสคุย รับกลุ่มไม่ได้มีศักยภาพเหนือกว่าใคร ไม่พูดได้เครดิตตัวเชื่อม ด้าน “อารีเพ็ญ” เชื่อเดี๋ยวมีกลุ่มอื่นอีก


วันนี้ (1 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.40 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำกลุ่มวาดะห์ ได้นำสมาชิกกลุ่มวาดะห์ทั้ง 9 คน ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา เพื่อช่วยพัฒนาและแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประชุมปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนายวันมูหะมัดนอร์ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้ามาช่วยงาน ร.ต.อ.เฉลิม ของกลุ่มวาดะห์ ในฐานะที่ปรึกษารองนายกฯ ว่า ปัญหาภาคใต้เกิดขึ้นมาหลายสิบปี ก็อยากให้เกิดความสงบขึ้น ซึ่งคงต้องฟังว่า ร.ต.อ.เฉลิมจะปรึกษาเรื่องอะไร อะไรที่เราพอทราบ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหรือแก้ปัญหาภาคใต้ก็พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และอยากเรียกร้องทุกฝ่ายมาร่วมมือให้ความคิดเห็นกันเพื่อให้ความขัดแย้งลดลง และไม่อยากให้ตรงนี้เป็นเรื่องของกลุ่มหรือเรื่องของพรรคการเมืองแต่อยากให้เป็นเรื่องของคนไทยทั้งหมด โดยเฉพาะที่ทราบว่ามีการเชิญฝ่ายค้านและฝ่ายอื่นๆ มาร่วมกันคิดด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอของกลุ่มวาดะห์ไปใช้ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ก็แล้วแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่อยากจะบอกว่าเราทุกข์ยากมานาน และคาดหวังว่าต่อไปปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะดีขึ้น

“ทั้งหมดเป็นการดำเนินการตามกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ นโยบายของ สมช.ที่จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมาย และไม่มีใครได้ศักดิ์ศรีหรือเสียศักดิ์ศรีอะไร เป็นเรื่องความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นผมคิดว่าน่าจะให้โอกาสพื้นที่ตรงนี้เกิดขึ้น อย่าไปหวังว่าจุดเริ่มต้นลงนามกันแล้ว แล้วจะยุติปัญหาทั้งหมด เอาแค่ว่าขอให้มีจุดเริ่มต้น แล้วความคืบหน้าจะเดินต่อไป ซึ่งเรื่องการเจรจาติดต่อประสานงานนั้นก็มีคนทำกันหลายๆ ฝ่าย และความจริง ร.ต.อ.เฉลิมก็ไม่ได้ใช้กลุ่มวาดะห์แค่กลุ่มเดียว เพราะมีคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ถึง 7-8 คณะ เพียงแต่ว่าเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยเท่านั้น กลุ่มวาดะห์ไม่ได้มีศักยภาพเหนือกว่าใครๆ” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

เมื่อถามว่า ประชาชนค่อนข้างคาดหวังกับการเข้ามาช่วยของกลุ่มวาดะห์ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่มานาน นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เราเองก็อยากให้สถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นหลายสิบปีที่เหมือนกับฝันร้ายนั้นกลายเป็นฝันดีในเวลาเร็วๆ นี้ นี่คือสิ่งที่พวกเราคาดหวัง แต่จะทำได้อย่างไรก็คงต้องให้เวลา

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวถึงการลงนามระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับนายฮัสซัน ตอยิบ รองเลขาธิการกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซียว่า ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่การเจรจาขั้นต่อๆ ไป และต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำงานจนกระทั่งมีจุดเริ่มต้นขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลมาเลเซียที่ให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

ผู้สื่อข่าวถามว่า การลงนามดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่ากังวล เหมือนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงกันในขณะนี้หรือไม่ โดยเฉพาะเป็นการยกระดับกลุ่มขบวนการ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ความกังวลใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่เราต้องให้โอกาสในการมานั่งคุยกันเพราะสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของแนวความคิด เป็นเรื่องของอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ ดังนั้นการที่จะเปลี่ยนจุดยืนและหันมาสร้างสันติภาพก็ต้องมาคุยกัน การมีพื้นที่คุยกันก็อาจต้องใช้เวลาในการประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจจะสำเร็จในเวลาสั้นหรือยาว แต่ก็ยังดีกว่าที่เราไม่เริ่มต้นอะไรเลย

ผู้สื่อข่าวถามว่า การลงนามครั้งนี้ มีข่าวว่ากลุ่มวาดะห์เป็นผู้ประสานให้เกิดขึ้น นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ตนไม่อยากพูดว่าใครเป็นผู้ประสาน แต่อยากให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องดีที่ทุกคนต้องให้กำลังใจและให้โอกาสนี้เกิดขึ้น และให้โอกาสในการทำงานต่อไป แต่เราอย่าไปหวังในความเปลี่ยนแปลงในเวลาอันรวดเร็วนัก เพราะปัญหาความรุนแรงภาคใต้เกิดมายาวนานหลายสิบปี เพราะฉะนั้นการที่จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ เปลี่ยนความคิด มันเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันจะได้ไม่มีเส้นคู่ขนานกัน

เมื่อถามว่าหลังจากลงนามกับกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้วจะมีการลงนามกับกลุ่มอื่นๆ อีกหรือไม่ แกนนำกลุ่มวาดะห์กล่าวว่า เป็นเรื่องของทาง สมช.ที่จะต้องเดินหน้าต่อไป กลุ่มวาดะห์ไม่มีหน้าที่เรื่องนี้ ความจริงการที่ สมช.และรัฐบาลทำนี้ก็เป็นการทำตามนโยบายและกฎหมายการบริหารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตามนโยบายของการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2555-2557 และความจริงก็ถือเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกันเพื่อให้ความสงบเกิดขึ้น

ทางด้านนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ สมาชิกกลุ่มวาดะห์ กล่าวถึงการลงนามของเลขาฯ สมช.กับกลุ่มบีอาร์เอ็น ว่าความจริงก็เป็นไปตามนโยบายของทางสภาความมั่นคงฯ ซึ่งเป็นการตกลงกันในเบื้องต้นว่าจะมีการพูดคุยกัน ผู้สื่อข่าวถามว่า ตกลงนายอัสซันใช่ตัวจริงในกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่ นายอารีเพ็ญกล่าวว่า ตนว่าขนาดทางมาเลเซียที่มีคนสำคัญมาร่วมเป็นสักขีพยาน ทาง สมช.เราก็เป็นหน่วยงานใหญ่ ดังนั้นการที่จะไปเจรจาหรือลงนามกันโดยไม่รู้เรื่องเลยคงเป็นไปไม่ได้ และคนที่มาเป็นสักขีพยานในมาเลเซียก็เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังอยู่ด้วย

เมื่อถามว่า นอกจากกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ลงนามครั้งนี้แล้วยังมีกลุ่มอื่นอีกหรือไม่ นายอารีเพ็ญกล่าวว่า คงจะมีอีก

มีรายงานว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) เป็นประธานการประชุมร่วมคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิประจำศปก.กปต. นัดแรก โดยมีกลุ่มวาดะห์ และอดีตแม่ทัพเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธ์ นายซูกาโน มะทา นายนัจมุดดีน อูมา น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา นายสุธีพันธ์ ศรีริกานนท์ นายสุดิน ภูยุทธานนท์ พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาค 2 และพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาฯสมช. โดยร.ต.อ.เฉลิม กล่าวในที่ประชุมว่า ตอนที่นายกฯ ตั้งให้มาดูแลปัญหาภาคใต้ ก็ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน ฉะนั้นจะไม่เข้าใจปัญหาในพื้นที่มากนัก จึงได้เชิญทุกคนมาเป็นที่ปรึกษา และขอคำแนะนำด้วย ซึ่งต้องการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพร้อมที่จะนำข้อคิดเห็นเสนอต่อ ศปก.กปต. ต่อไป และจะมีการนัดหารือกันเป็นระยะ โดยการมาร่วมงานในครั้งนี้ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ถือเป็นการเจตนาที่แท้จริง และบริสุทธิ์

จากนั้น เวลา 16.00 น. น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษาร.ต.อ.เฉลิมแถลงข่าวภายหลังการประชุมแก้ปัญหาภาคใต้ว่า ที่ประชุมหารือใน 4 ประเด็นคือ 1.ยึดหลักบริหารพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 55-57 โดยสมช. เพราะถือเป็นนโยบายที่ดี แต่ในเชิงปฏิบัตินโยบายควรเป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศต้องเข้าใจร่วมกัน 2.การที่นายกฯเดินทางไปประเทศมาเลเซียถือเป็นนิมิตหมายที่ดี และเป็นเรื่องที่คนในพื้นที่รอคอย เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างคน และเป็นเริ่มต้นพูดคุยถือเป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งสันติสุขในอนาคต ที่สำคัญมากกว่านั้นทุกคนมองว่า แม้จะมีการพูดคุยแต่ยังมีเหตุการณ์ระเบิดในพื้นที่ แต่การพูดคุยต้องใช้เวลา 3.การใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นความเร่งด่วนที่ควรจะทำในวันที่ 19 มี.ค.จะครบการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นการขยายครั้งที่ 32 แล้ว คนในพื้นที่ร้องมากันเยอะ ฉะนั้นการใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯแทน โดยเฉพาะม.21 เป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นการยกเลิกทั้งหมด แต่ควรจะเป็นการใช้ในพื้นที่ไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์ เช่น ใน อ.เบตง อ.ธารโต อ.กาบัง ในจว.ยะลา ขณะที่ในจว.นราธิวาส ที่อ.แว้ง อ.สุคีรินทร์ อ.ไม้แก่น ส่วนจว.ปัตตานี ขณะที่ส่วนพื้นที่สีแดงยังคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ 4.การปราบปรามยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่ โดยเฉพาะรายย่อยในพื้นที่ โดยในเดือนมี.ค.นี้ ร.ต.อ.เฉลิมลงพื้นที่หารือร่วมกับองค์กรภาคประชาชนที่สามารถมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ ที่บ้านพักของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จว.ยะลา เพื่อมาสรุปสาถานการณ์ต่างๆ และเน้นพบปะกับชาวบ้านในพื้นที่ สำหรับข้อเสนอ ร.ต.อ.เฉลิมจะนำเข้าที่ประชุมสมช.และนำข้อเสนอทั้งหมดไปเป็นแนวปฏิบัติ

ด้านนายนัจมุดดิน อูมา กล่าวว่าส่วนการพูดคุยระหว่างรัฐกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ต้องเข้าใจก่อนว่าโครงสร้างการจัดองค์กรก็มีฝ่ายการเมืองและมีฝ่ายปฏิบัติ การทำข้อตกลงกับบีอาร์เอ็นเป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองและต้องไปพูดคุยกับฝ่ายปฏิบัติในพื้นทีต่อไป ต้องใช้เวลาเพราะนี้เป็นแค่การเริ่มต้นที่ดี เมื่อถามว่าฝ่ายการเมืองจะสามารถควบคุมฝ่ายปฏิบัติได้ใช่หรือไม่ นายนัดมุดดิน กล่าวว่าเท่าที่ทราบควบคุมยังไม่เบ็ดเสร็จคงต้องพยามยามที่จะพูดคุยกันต่อไป และน่าจะมีการพูดคุยกับกลุ่มอื่นๆอีก โดยหลักๆก็จะมีกลุ่มบีอาร์เอ็นคองเกรส , กลุ่มบีอาร์เอ็นโคออดิเนต , กลุ่มพูโลใหม่ , กลุ่มพูโลเก่า ซึ่งเป็นกลุ่มอยู่พื้นที่ทางกองทัพภาค 4 มีข้อมูลดีอยู่แล้ว ส่วนที่เลขาธิการสมช.ไปดำเนินการก็เป็นในระดับรัฐบาล ส่วนกลุ่มที่ออกมาก่อเหตุรายวันข้อมูลที่มีอยู่ไม่ชัดเจนมาก ถ้าตามข้อมูลที่ฝ่ายความมั่นคงบอกก็เป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น คอดิเนต









น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา
กำลังโหลดความคิดเห็น