กกต.จัดอาสาสมัคร 1.3 หมื่นคน สังเกตการณ์วันเลือกตั้ง ร่วมมือ กศน.รณรงค์เคาะประตูบ้านออกมาใช้สิทธิ ด้านคำร้องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งพบรับเรื่อง 3 คำร้อง ตีตก 1 คำร้อง ส่วนอีก 6 คำร้องกำลังพิจารณา ด้าน ผอ.กต.กทม.เผย สพฐ.ไม่เลื่อนวันสอบแกต-แพท แต่ขยายเวลาพักระหว่างสอบไปแล้ว ชี้แจ้งสาเหตุไม่ไปใช้สิทธิเพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์ได้
วันนี้ (27 ก.พ.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า ขณะนี้การจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดยทาง สำนักงาน กกต.ได้ร่วมมือกับสำนักงานการศึกษานอกระบบ (กศน.) ในการเดินรณรงค์และลงพื้นที่เคาะประตูบ้านทั่วทุกพื้นที่ทั้ง 50 เขต เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในวันที่ 3 มี.ค.นี้ ทางสำนักงาน กกต.ยังได้ตั้งศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งเน้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ในวันที่ 2-3 มี.ค.นี้ และในวันเลือกตั้ง ทางสำนักงาน กกต.ได้จัดอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษา กศน.จำนวน 13,096 คน คอยสังเกตการณ์อยู่บริเวณโดยรอบหน่วยเลือกตั้ง หากอาสาสมัครพบเรื่องที่ผิดปกติในการเลือกตั้ง ก็จะแจ้งกรรมการประจำหน่วย หรือประธานกรรมการประจำหน่วย เพื่อให้ประสานมายังเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ในแต่ละเขต เพื่อลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีแบบฟอร์มรายงานแจ้งเบาะแสการทุจริตการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ให้อาสาสมัครทุกคน เพื่อบันทึกความผิดปกติต่างๆ ตั้งแต่เปิดหน่วยเลือกตั้งจนถึงปิดหีบเลือกตั้ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการตรวจสอบต่อไป อย่างไรก็ตามในส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นผู้พิการ จะมีลูกเสืออาสา กกต. ประจำหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วย เพื่อคอยสนับสนุนตลอดการใช้สิทธิลงคะแนน คาดว่าน่าจะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิเกินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์
ด้าน พ.ต.อ.พันธ์ระวี วีระพันธุ์ ผอ.สำนักสืบสวนสอบสวนฯ 1 กล่าวว่า ขณะนี้คำร้องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้ยื่นเข้ามายัง กกต. ทั้งหมด 10 คำร้อง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ผู้สมัครยื่นร้องโดยตรง 5 คำร้อง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยื่นร้อง 4 คำร้อง และได้รับแจ้งจากหน่วยงานราชการ 1 คำร้อง ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการหาเสียงใส่ร้ายหรือจูงใจต่อคะแนนนิยมของผู้สมัคร ตามมาตรา 57(5) ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 โดยขณะนี้ทาง กกต.ได้รับเรื่องเป็นคำร้องไว้ 3 คำร้อง และไม่รับเป็นคำร้อง 1 คำร้อง ดังนั้นจะเหลือเรื่องที่ยื่นร้องเรียนเข้ามาและอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล เพื่อพิจารณาเป็นคำร้องหรือไม่อีก 6 คำร้อง
อย่างไรก็ตามขณะนี้ทาง กกต.ก็ยังไม่พบเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการซื้อเสียง ที่มีหลักฐานอย่างชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าการซื้อเสียงในเขตกทม. เป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมาก ทั้งนี้ กกต.ก็จะคอยเฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้
ขณะที่ นายวีระ ยี่แพร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กต.กทม.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มเครือข่ายพ่อแม่ เยาวชน เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ขอความเป็นธรรมแก่นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีสิทธิเลือกตั้งแต่ต้องสอบ แกต-แพท ในวันเดียวกันกับวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ว่า การเลื่อนวันสอบแกต-แพท ไม่ได้เป็นอำนาจของ กกต.โดย กกต.เคยประสานไปยัง ผอ.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อขอให้เลื่อนวันสอบออกไป แต่ทาง สพฐ.แจ้งมาว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากได้วางกำหนดการสอบไว้หมดแล้ว หากเลื่อนวันสอบในวันดังกล่าวจะต้องเลื่อนวันสอบวันอื่นๆ ตามไปด้วย ดังนั้น สพฐ.จึงขยายเวลาในการพักระหว่างสอบเป็น 2 ชั่วโมง เพื่อให้นักเรียนที่มีสิทธิเลือกตั้งได้ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวไปเลือกตั้ง
ทั้งนี้ หากผู้ปกครองกลัวว่าบุตรหลานของตนที่มีสิทธิเลือกตั้งจะเสียสิทธิ์และกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จากการที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ตามระเบียบของ กกต. กำหนดไว้ว่า ให้สิทธิกับผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สามารถแจ้งสาเหตุในการไม่ไปใช้สิทธิได้ ก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน ขณะนี้เหลือเวลาการแจ้งเหตุได้ช่วงหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในวันที่ 3 มี.ค.โดยสามารถแจ้งเหตุได้ถึงวันที่ 10 มี.ค.นี้ อย่างไรก็ตามหากนักเรียนจะไปใช้สิทธิในวันที่ 3 มี.ค.ทาง กกต.ได้แจ้งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วย ให้อำนวยความสะดวกแก่นักเรียน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการลงคะแนน