xs
xsm
sm
md
lg

“ทูตสุรพงษ์” เชื่อ “ปู” คุยมาเลย์สมประโยชน์พวกพ้อง-เตือน “เสือเหลือง” แผ่อำนาจคลุม 3 จชต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุรพงษ์ ชัยนาม” อดีตทูต 5 ประเทศ เตือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้มาเลเซียเป็นตัวกลางดับไฟใต้จะทำให้รัฐบาลเสือเหลืองมีอำนาจนำเหนือ 3 จังหวัดของไทย เชื่อ “รบ.ปู” ไม่ต้องการความสงบจริง แค่หวังสมประโยชน์ส่วนตัวกับฝ่ายมาเลเซีย จวกนักการเมืองไทยชอบเอาปัญหาภาคใต้ไปโฆษณาหากิน ทำให้ฝ่ายตรงข้ามอ่านเกมออก



นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำ 5 ประเทศ กล่าวในรายการ “สภาท่าพระอาทิตย์” ทางเอเอสทีวี วันนี้ (27 ก.พ.) ถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปขอความร่วมจากรัฐบาลมาเลเซียในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในวันที่ 28 ก.พ.นี้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียก็ให้ความร่วมมือกับไทยมาโดยตลอด เพียงแต่ว่ารัฐบาลมาเลเซียต้องระมัดระวัง เนื่องจากรัฐกลันตันที่อยู่ติดกับชายแดนภาคใต้ของไทยนั้นอยู่ใต้อิทธิพลของพรรค PAS ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของมาเลเซีย เพราะฉะนั้น การให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทย เช่น ส่งตัวผู้ก่อความไม่สงบกลับมาให้ก็ต้องทำในทางปิด ไม่อยากโฆษณา เพราะจะมีผลกระทบทำให้พรรค PAS นำไปโจมตีว่ารัฐบาลกลางส่งพี่น้องมุสลิมมาให้รัฐไทยดำเนินการได้

นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญ คือ การที่มาเลเซียบอกว่าพร้อมจะเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หรือที่เรียกว่าเป็น mediator โดยมีข่าวว่าผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ของไทยไม่เห็นด้วย ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว และอยากให้รัฐบาลมาเลเซียเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก หรือ facilitator คอยจัดสถานที่บรรยากาศให้เอื้อต่อการพูดคุยที่จะนำไปสู่การเจราข้อตกลง โดยไม่ต้องเข้ามานั่งอยู่ในที่ประชุมด้วยเหมือนกับการเป็นผู้ไกล่เกลี่ย

นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า เห็นด้วยกับท่าทีของ ผบ.ทบ. เพราะว่าผู้ไกล่เกลี่ยไม่มีวันที่จะเป็นกลางหากท่าทีของไทยขัดต่อผลประโยชน์ของมาเลเซีย เขาก็จะไปเข้าข้างอีกฝ่าย หรือถ้าข้อเสนอของอีกฝ่ายไม่เป็นประโยชน์ต่อมาเลเซีย มาเลเซียก็จะมาเข้ากับฝ่ายไทย หรือหากมีการเจรจาที่นำไปสู่ข้อตกลงได้ก็จะเป็นข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ต่อมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียประกาศไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน และเคารพเอกราชอธิปไตยของไทยมานานแล้ว รวมทั้งไม่สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงไม่ว่าฝ่ายใด แต่การที่มาเลเซียสนใจที่จะมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยก็เพราะเขาพิจารณาปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีผลกระทบต่อเขาทั้งทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ เพราะพี่น้องชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดนั้นเป็นคนไทยเชื้อสายมาเลย์ เขาย่อมมองว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นส่วนขยายของเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของมาเลเซีย ไม่ต้องแบ่งแยกดินแดน พี่น้องใน 3 จังหวัดก็พูดภาษามาเลย์อยู่แล้ว เหมือนคนอีสานพูดภาษาลาว เพราะฉะนั้นถ้ามีการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจนถึงขั้นประสบความสำเร็จ มีการเจรจาสันติภาพ ทำสัญญาสงบศึก ก็ต้องเป็นสัญญาสงบศึกที่ทำให้มาเลเซียเป็นใหญ่ทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า ถึงแม้จะให้รัฐบาลมาเลเซียเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก ก็เป็นไปไม่ได้อยู่ดี ที่จะไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ เราเคยมีบทเรียนมาแล้วในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะให้อินโดนีเซียเข้ามาเป็นผู้อำนวยความสะดวกเรื่องไทย-เขมร ซึ่งไม่มีข้อกำหนดเงื่อนไข หรือทีโออาร์ที่ชัดเจนว่าทำอะไรได้บ้าง ทำอะไรไม่ได้บ้าง ยังดีที่ทหารไทยไม่เอาด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะให้มาเลเซียมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหรือผู้อำนวยความสะดวก ก็จะทำให้มาเลเซียมีอำนาจเหนือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ดี มันอันตรายทั้งสองอย่างถ้าเราไม่มีความเข้าใจ

อดีตเอกอัครราชทูต 5 ประเทศกล่าวต่อว่า กรณีที่มาเลเซียเข้าไปมีบทบาทในการเจรจาสงบศึกระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มกบฏโมโรนั้น ที่จริงก็สงบแค่ระดับหนึ่ง โดยมีกรอบความเข้าใจว่าถ้าจะมีสนธิสัญญาสงบศึกจะมีอะไรบ้าง ซึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ก็ยอมไม่ได้ที่จะให้มีการแบ่งแยกดินแดนรัฐโมโรเป็นอิสระขึ้นมา และรัฐบาลฟิลิปปินส์ก็ยอมรับว่า บทบาทการเป็นผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซียมีปัญหา เพราะไม่มีทีโออาร์ที่ชัดเจน จึงได้ดึงเอานานาชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา อียู ญี่ปุ่น ลิเบีย ซาอุดีอาระเบีย เข้ามาคานอิทธิพล ไม่พึ่งมาเลเซียอย่างเดียว

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า การขอร้องให้มาเลเซียร่วมมือกับไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ และเขาก็ให้ความร่วมมือมาเป็นระยะๆ ซึ่งมันมีการเมืองภายในของเขาที่มีความละเอียดอ่อนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ การขอความร่วมมือจากรัฐบาลมาเลเซียนั้น ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือเป็นทางการ แค่พูดคุยกันเขาก็ให้ความร่วมมือ เพราะมันส่งผลกระทบถึงเขาด้วย และถ้าขอเป็นทางการจะเป็นการมัดคอตัวเอง ความยืดหยุ่นมีน้อย และเท่ากับเรายอมรับว่าอำนาจนำอยู่ที่มาเลเซีย และมาเลเซียเป็นผู้จัดการปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายสุรพงษ์ตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลไปเจรจากับมาเลเซียครั้งนี้ เป็นการไปหาเพื่อข้อยุติของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จริงๆ หรือเพียงเพื่อเอามาเลเซียเป็นเครื่องมือแล้วสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายกันแน่ เพราะเป็นการทำให้มาเลเซียได้มีอำนาจนำต่อปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่เขาต้องการ ขณะที่รัฐบาลก็มีเรื่องเขตปกครองตนเอง ที่มีธุรกิจและผลประโยชน์ของพรรคพวกเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นการสมหวังกันทั้งสองฝ่ายบนความเสียหายของประเทศไทย

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลปล่อยให้แกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาออกทีวีช่อง 3 สะท้อนถึงความไร้เสถียรภาพและความอ่อนแอของรัฐบาลไทยที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่าอะไรคือความมั่นคง อะไรคือประโยชน์ของชาติ อะไรคือประโยชน์ของพวกพ้อง ขณะนี้มีการเอาผลประโยชน์ชาติเป็นอันดับรอง ผลประโยชน์พวกพ้องเป็นอันดับหนึ่ง สภาพแบบนี้พอไปเจรจากับกลุ่มไหนเขาก็อ่านออก ผู้ก่อการร้ายอ่านออก รัฐบาลมาเลเซียก็อ่านออกว่าประเด็นความมั่นคงในภาพรวมไม่ใช่ประเด็นที่รัฐบาลนี้ต้องการ เขาก็กดดันเต็มที่เพื่อเอาผลงานที่เขาต้องการ

นายสุรพงษ์ให้ความเห็นอีกว่า การเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบนั้นฝ่ายเราทำมาตลอด แต่จุดอ่อนของเรา คือ เวลาไปคุยกับใครแล้วก็กลับมาคุยโว ต่างจากที่อังกฤษซึ่งเขาเจรจาลับกับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนไออาร์เอมาตลอด 20 ปี จนยุติสงครามเย็นและกลุ่มกบฏยอมเจรจา กรณีของไทยถ้าจริงจังไม่มีวาระซ่อนเร้น ไม่จำเป็นที่จะต้องมาโฆษณาว่าจะไปคุยกับใคร เพราะในระดับผู้นำคุยกันในทางปิดก็ได้ ได้ผลเมื่อไหร่ค่อยเปิดเผย และในเบื้องต้นก็คุยกันในระดับเจ้าหน้าที่เท่านั้น จนมีความคืบหน้าค่อยยกระดับการพูดคุยขึ้น แต่นักการเมืองบ้านเราต้องการสร้างภาพตลอดเวลา เพื่อหากินทางการเมือง ทำให้เขารู้ทางเรา

อดีตเอกอัครราชทูต 5 ประเทศกล่าวในตอนท้ายว่า ถ้าจะวิเคราะห์ให้ถึงที่สุด การเจรจาแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้จะมีความคืบหน้าได้เราต้องปฏิบัติการภายในก่อน การเมืองภายในต้องมั่งคง ไม่ใช่ให้นักการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเอาไปเป็นประโยชน์ทางการเมืองหมด ตอนนี้รัฐบาลมาเลเซียเขาอ่านเกมเป็น เขารู้ว่าความต้องการจริงๆ ของรัฐบาลนี้ไม่ได้ต้องการให้เกิดความสงบ แต่ต้องการผลประโยชน์ เขาจึงเอาไปกดดันเพื่อให้วิน-วินทั้งสองฝ่าย




สุรพงษ์ ชัยนาม

กำลังโหลดความคิดเห็น