หน.มาตุภูมิ ชี้ตั้งวาดะห์กุนซือดับไฟใต้เรื่องดี แนะปรับความเข้าใจตรงกัน เชื่อชาวบ้านไม่ซีเรียสปรับ พ.ร.บ.แทน พ.ร.ก. แต่คาดสบายใจขึ้น ยก ม.21 ช่วยกลับใจ มั่นใจ กม.คุมอยู่ ลดครหาใช้พูดคุยแทนเจรจา รับดึงต่างชาติช่วยอาจดี ไม่มั่นใจพูโลมีบทบาทในพื้นที่ ชี้มีหลายกลุ่มเข้มแข็งจะน้อยลง เชื่อกลุ่มความไม่สงบคนละพวกกับค้ายาทำผิด กม.
วันนี้ (27 ก.พ.) ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขปัญหาภาคใต้ที่มีการดึงกลุ่มวาดะห์เขามาช่วยแก้ไขปัญหาว่า ที่ผ่านมาทั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็มีที่ปรึกษาอยู่แล้ว และกลุ่มวาดะห์ก็เคยอยู่ในส่วนนี้ แม้อาจจะหายไปสักพัก แต่เมื่อกลับมามีส่วนอีกครั้งก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะการแก้ไขปัญหาภาคใต้กลุ่มต่างๆ ก็มีแนวคิดที่แตกต่างกัน หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบควรจะรวบรวมแนวทางต่างๆ ไปพิจารณาว่าอะไรจะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหามากที่สุด
เมื่อถามว่าภาพลักษณ์ของกลุ่มวาดะห์ที่มีสมาชิกบางคนเคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่ พล.อ.สนธิกล่าวว่า คดีต่างๆ เมื่อถึงที่สิ้นสุดแล้วก็ถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด การจะตั้งข้อสงสัยนั้นสามารถที่จะทำได้ แต่ต้องดูว่าพวกเขามีความผิดหรือไม่ และตนก็หวังว่าการที่กลุ่มวาดะห์เข้ามาจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องมาปรับความเข้าใจของแต่ละคน ทั้งความเข้าใจตัวเขาและความเข้าใจตัวเราให้ตรงกัน ซึ่งการแก้ปัญหาคงต้องค่อยๆปรับไป
ต่อข้อถามว่าหลักการที่จะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะช่วยลดการก่อเหตุได้หรือไม่ พล.อ.สนธิกล่าวว่า หากมองในภาพรวม กฎหมายทั้งสองฉบับประชาชนคงไม่ซีเรียสกับตรงนี้กันเท่าไหร่ แต่การออกมาตรการตัวนี้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความสบายใจมากขึ้นในการดำรงวิถีชีวิตของเขา ตนคิดว่าการที่จะมีความแตกต่างตรงนี้ คงขึ้นอยู่กับบางมาตราที่น่าจะมีประโยชน์ เพราะนำมาใช้ในทางจิตวิทยาทำให้คนออกมามอบตัว โดยเฉพาะมาตรา 21 เมื่อถามว่าจะทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ลำบากมากขึ้นหรือไม่ พล.อ.สนธิกล่าวว่า อำนาจในการบริหารจัดการ ในกฎหมายต่างๆ มีอยู่แล้ว หากบังคับใช้กฎหมายให้ดีเอาจริงเอาจังจะสามารถควบคุมได้
เมื่อถามว่าการบังคับใช้กฎหมายมีความสำคัญมากกว่าการเจรจาหรือไม่ พล.อ.สนธิกล่าวว่า ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นที่ไหน จะสามารถหาข้อยุติได้ด้วยการพูดคุย ตรงนี้จึงต้องหันมาศึกษาเรื่องการพูดคุยประกอบกับแนวทางอื่นในการแก้ไขปัญหา ส่วนจะให้มีการเจรจาหรือไม่นั้น หลายคนมองว่าการเจรจาเป็นการยกระดับ แต่เพื่อให้เกิดความสบายใจของทุกฝ่ายก็ให้ใช้การพูดคุย ที่จะนำไปสู่การแก้ไปปัญหาอีกระดับหนึ่ง และการแก้ปัญหาเรื่องการขัดแย้งบางประเทศได้ใช้ประเทศที่ 3 เข้ามามีส่วนช่วย ตนมองว่าบางทีก็มีประโยชน์ ซึ่งต้องมาพิจารณาดูให้ดีว่าอะไรจะเป็นประโยชน์สูงสุด
เมื่อถามว่าการที่กลุ่มพูโล ออกมาระบุว่าต้องการที่จะเจรจากับรัฐบาลแต่ควรมีประเทศที่เป็นกลางเข้ามามีส่วนร่วม พล.อ.สนธิกล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มพูโลมีบทบาทอะไรต่อปัญหาในพื้นที่บ้างตนไม่แน่ใจ และเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนตหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ และที่ผ่านมาก็มีการเจรจาหลายครั้งและมีการอ้างว่ามาจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งถ้ามีหลายกลุ่มก็จะเป็นประโยชน์เพราะความเข้มแข็งจะน้อยลง ส่วนเมื่อถามว่าการที่มองว่าปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ไม่ใช่แค่การแบ่งแยกดินแดน แต่มีปัญหาอื่นทั้งยาเสพติด และการกระทำผิดกฎหมายอื่นๆ ด้วย จะสามารถแก้ปัญหาด้วยการพูดคุยได้หรือไม่ พล.อ.สนธิกล่าวว่า จากการศึกษาปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ที่ผ่านมา ตนมีความเชื่อว่าการก่อการร้ายเป็นคนละพวกกับกลุ่มที่ค้ายาเสพติดและกระทำผิดกฎหมายอื่นๆ เพราะ กลุ่มก่อการร้ายมีอุดมการณ์ หากมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การค้ายาเสพติดเข้ามาจะทำให้กลุ่มของพวกเขาแตกเร็วยิ่งขึ้น คิดว่าพวกเขาคงไม่ทำ