หน.ปชป.ชี้หากรัฐเจรจาสันติภาพต้องดูให้ดีว่าเป็นแกนนำระดับไหน เตือนระวังจะสร้างปัญหาตามมา เหตุเลือกคุยบางกลุ่ม ชี้ไฟใต้รุนแรงตั้งแต่ทักษิณเหยียบมาเลเซีย ส่วน “สุกำพล” นัดคุย “เตีย บัญ” ถกเขาพระวิหารทำได้แตจ่ต้องดูความเหมาะสม และจุดยืนปกป้องผลประโยชน์ชาติ
วันนี้ (25 ก.พ.) ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายกัสตูรี มะห์โกตา ประธานขบวนการปลดปล่อยสหปัตตานี (พูโล) เรียกร้องให้มีการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทยว่า ตนเคยเตือนแล้วว่าการจะไปพูดคุยต้องเริ่มจากการมีมาตรการที่สร้างความไว้วางใจต่อกัน และต้องรู้ว่าคนที่จะไปพูดคุยนั้นเป็นใครและมีบทบาทอะไรมากน้อยแค่ไหนในระดับหนึ่ง โดยงานตรงนี้จะต้องมีการใช้เวลาและมีระบบการทำงาน เพราะถ้ารัฐบาลไม่ระมัดระวังก็อาจจะสร้างปัญหาตามมา แทนที่จะช่วยแก้ไขปัญหา เหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมาบางครั้งเป็นเรื่องปฏิกิริยาของบางกลุ่มที่มองว่ารัฐบาลไม่สนใจกลุ่มเขาใช่หรือไม่ จึงไปเลือกคุยเพียงบางกลุ่ม ทั้งนี้เรื่องการพูดคุยต้องทำอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาก็ทำมาตลอด แต่ไม่ถือเป็นการเจรจา
เมื่อถามว่าแม้จะมีการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ แต่ก็ยังมีก่อเหตุต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราต้องแยกแยะว่าช่วงไหนที่มีความรุนแรง และช่วงใดมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งการที่เหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นนั้น ตนยืนยันว่าเริ่มตั้งแต่ปี 2555 รัฐบาลมีแนวคิดหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย รวมทั้งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่มีฝ่ายนโยบาย หรือฝ่ายการเมืองลงไปเกาะติดในพื้นที่หรือให้ความสนใจ จึงทำให้ปัญหามีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการที่มีการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ แล้วเหตุการณ์ความก่อความมี่สงบจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม นัดหารือกับ พล.อ.เตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมของกัมพูชา ที่ จ.สุรินทร์ว่า ตนได้รับทราบว่าการนัดหมายดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความเห็นและเรื่องนี้น่าจะจบไปแล้ว เมื่อถามย้ำว่าการนัดหารือดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ในช่วงเวลานี้ที่ใกล้กับการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องการพูดคุยก็เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่อยู่ที่ว่ารูปแบบ สถานที่ และเนื้อหาของสาระการพูดคุยจะต้องมีความเป็นเอกภาพในจุดยืนของฝ่ายไทยที่ต้องปกป้องผลประโยชน์ของไทยเอาไว้