ผบ.เหล่าทัพถกฝึกคอบร้าโกลด์ เผยช่วยคุยมะกันไฟเขียวให้พม่าร่วมฝึก พร้อมเล็งส่ง กกล.อาเซียนช่วยปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ด้าน ผบ.สส.ยันไทยไม่ใช่แหล่งซุกหัวผู้ก่อการร้าย ชี้บึ้มกงสุลมะกันแค่ข่าวลือ วอนอย่าตื่นตูม ผบ.เหล่าทัพพร้อมหนุนแผน รบ.แก้ใต้ เชื่อพม่าปิดซ่อมท่อก๊าซไม่กระทบไทยขาดไฟฟ้า ช่วยภัยแล้งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ด้าน ผบ.ทบ.ยันไม่หนักใจ-ไม่ห่วง “เฉลิม” ตั้ง “วาดะห์” เป็นที่ปรึกษา เชื่อไม่กระทบแก้ใต้ เชื่อคิดรอบคอบแล้ว
วันนี้ (19 ก.พ.) ที่หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อเวลา 10.00 น. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานในการประชุมผบ.เหล่าทัพ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง โดยใช้เวลาในการประชุมกว่า 2 ชั่วโมง
โดย พล.อ.ธนะศักดิ์แถลงผลการประชุม ผบ.เหล่าทัพว่า ในที่ประชุมมีการรายงานให้รับทราบถึงการฝึกคอบร้าโกลด์ 2013 การฝึกการต่อต้านการก่อการร้ายสากล สุรนารี 56 รวมถึงติดตามการเตรียมความพร้อม การฝึกร่วมกองทัพไทย ในปี 2556 การเตรียมความพร้อมการฝึกของกองทัพ ประเทศสมาชิกอาเซียน ด้านการช่วยเหลือ ด้ามมนุษยธรรม และบรรเทาภัยพิบัติ ครั้งที่ 2 ที่ประเทศบูรไนย และการฝึกบรรเทาสาธารณภัย (ARF DIREX 2013) ในจังหวัดเพชรบุรี พร้อมทั้งเน้นให้ทุกเหล่าทัพเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนรัฐบาบาลในการบรรเทาสาธารณภัย ร่วมถึงการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า การฝึกคอบร้าโกลด์เพื่อหาจุดหรือรอยรั่วในสิ่งที่แต่ละประเทศยังมีความขาดแคลนอยู่ เพื่อทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ โดยจะมีตำรวจเข้ามาร่วมการฝึกด้วย ทั้งนี้ในฐานะที่พม่าเป็นเพื่อนบ้านกับไทย เราจึงได้เสนอไปทางสหรัฐอเมริกาว่าควรให้พม่าเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งพม่าก็ได้เข้าร่วมตามที่ได้ขอไป โดยเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ ส่วนตัวแล้วตนกับผู้นำทางทหารของพม่าก็สนิทกัน ซึ่งปีนี้เป็นปีครบรอบ 65 ปี ความสัมพันธ์ไทย-พม่าจึงได้จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลเชื่อมสัมพันธไมตรี
โดยในปีนี้ยังมีเรือรบของพม่าจะมาเยือนไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สำหรับการเตรียมความพร้อมการฝึกของกองทัพ ประเทศสมาชิกอาเซียนนั้น เป็นการทดสอบแผน ตั้งแต่การส่งกำลัง การฝึกใช้กำลัง การฝึกผสมจริง และเป็นการสร้างวินัย ขณะนี้ตนกำลังผลักดันกองกำลังรักษาสันติภาพ หากมีความจำเป็นที่จะส่งกำลังไปช่วยองค์การสหประชาชาติ (UN) หรือไปช่วยการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ซึ่งแทนที่ประเทศไทยจะไปประเทศเดียว เราจะส่งกองกำลังอาเซียนทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เป็นทีมไปช่วยเขาในนามของอาเซียน
ขณะเดียวกัน พล.อ.ธนะศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยถูกมองว่าผู้ก่อการร้ายมักเข้ามาหลบหนีเข้ามาอยู่ภายในประเทศว่า สื่อถือว่ามีความสำคัญ ประเทศไทยโดยเฉพาะ กทม.ถือว่าเป็นเมืองอันดับ 1 ที่น่ามาเที่ยว แต่การที่สื่อมีการนำเสนอข่าวที่น่ากลัวทั้งที่ความจริงแล้วไม่มีอะไรถือเป็นเรื่องเดิม ดังนั้นต้องช่วยกัน ส่วนการดำเนินการตรวจสอบ คนต่างชาติที่เข้ามาในประเทศนั้น แต่ละประเทศจะมีวิธีการของเขา บางประเทศตรวจมาก บางประเทศตรวจน้อย แต่การปล่อยข่าวถือว่า เป็นเรื่องสำคัญ เช่น ในการปล่อยข่าวว่าจะมีการก่อการ้ายที่สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเราได้มีการตรวจสอบถึงสาเหตุของข่าวถือว่า ต้องตื่นตัวไว้ก่อน แต่ตื่นตัวมากไปก็ไม่ดี บ้านเมืองเราเป็นเมืองที่ที่น่าอยู่ แต่ไม่ใช่เป็นที่อยู่อาศัยของผู้ก่อการร้าย
“ประเทศไทยมีนโยบายในการเปิดประเทศ ใครๆ ก็มาได้ เมื่อเราเปิดประตูแล้วอะไรก็เข้ามาได้ ดังนั้นการคัดกรอง การแลกเปลี่ยนข่าวสารกับหน่วยข่าวถือเป็นสิ่งสำคัญ และต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมั่นใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ กองทัพ พลเรือน หน่วยข่าวกรองแห่งชาติ ต้องทำงานอย่างขะมักเขม้นตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งประเทศไทยไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่หนักหนาจริงๆ แต่เราพยายามจะให้เป็นข่าว ผมจึงอยากให้สื่อเสนอข่าวในขอบเขตที่เหมาะสม และไม่ให้น่ากลัวเกินไป ข่าวที่จะมีการก่อเหตุที่สถานกงสุลเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้นในขณะนี้ ข่าวก่อการร้ายที่ได้มาสิ่งแรกต้องให้น้ำหนักและตรวจสอบ แต่ไม่ใช่ตื่นตูม ต้องดูว่าแต่ละขั้นควรมีความตื่นตัวแค่ไหน ข่าวคือข่าว ข่าวกรองคือข่าวกรอง ถ้าเป็นข่าวสารใครก็สามารถพูดได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองมีการนำเสนอถึงประเด็นดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้มีปัญหากับความมั่นคง เพราะทั้งผ่ายการเมือง และฝ่ายความมั่นคง ต้องมีการประสานข้อมูลจากฝ่ายการเมืองอยู่แล้ว เราไม่มีปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสาร เพราะเรามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอยู่แล้ว ซึ่งการบอกถือเป็นการปรามอย่างหนึ่ง ที้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้รับผิดชอบในขณะนั้นว่ามีวิจารณญาณอย่างไร” พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ยังกล่าวถึงการสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เรื่องการสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ปัญหาทางภาคใต้ได้เน้นย้ำให้ทุกเหล่าทัพได้ทำเต็มความสามารถ ส่วนการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่นั้นจะดีหรือไม่ เรามีคณะกรรมการและผู้รับผิดชอบในการพิจารณาอยู่แล้ว ส่วนของเหล่าทัพก็ทำตามหน้าที่ของตนเอง สิ่งไหนที่สนับสนุนได้ก็ทำกันไป ทั้งนี้ทุกสิ่งทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับพื้นฐานของความสุขและความถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมในเบื้องต้น
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดยังกล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งว่า ทุกเหล่าทัพได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่จุดประสงค์ของเราอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความสมบรูณ์ แต่ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ เพราะยังมีปัญหาเรื่องภัยแล้งอยู่ ซึ่งในฐานะที่กองทัพมีความพร้อมทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ก็จะทำอย่างเต็มที่ เรื่องการช่วยเหลือประชาชนไม่จำเป็นต้องสั่งเพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกเหล่าทัพต้องทำอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่ไทยจะได้รับผลกระทบด้านพลังงานไฟฟ้าจากกรณีที่พม่าจะปิดซ่อมบำรุงท่อก๊าซธรรมชาติในช่วงเดือน เม.ย.นี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทับกับเรามากนัก ส่วนของเหล่าทัพได้เริ่มโครงการประหยัดพลังงานไฟฟ้ามานานแล้ว โดยกำหนดระยะเวลาในการเปิด-ปิดแอร์และไฟฟ้า ซึ่งทหารถือว่า มีวินัยกฎระเบียบต่างๆ เราทำได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คิดว่าพลังงานไฟฟ้าไม่น่าจะขาดมากนัก แต่ฝึกให้ทุกคนรู้จักประหยัดเพื่อให้ติดเป็นนิสัย ทั้งนี้ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม จะมีการทำสัญญาร่วมกับกระทรวงพลังงานในการเปลี่ยนหลอดไฟมาใช้เป็นหลอดแบบประหยัดพลังงาน ซึ่งต้องมีการเซ็นบันทึกข้อตกลงเอ็มโอยู
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 56/2556 เรื่องการแต่งตั้งกลุ่มวาดะห์ 9 คน มาเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีว่า ตนเชื่อว่ารัฐบาลได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ซึ่งคงต้องดูเรื่องการทำงานกันต่อไป ทั้งนี้ การเชิญบุคคลทั้ง 9 คนมาเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีนั้นรัฐบาลอาจต้องการคนมาร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้ตกตะกอนมากขึ้น ส่วนกรณีที่1ในกลุ่มวาดะห์เคยถูกตั้งข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนมาก่อน ตนมองว่าอย่าไปมองแบบนั้น เพราะการคุยกันต้องคุยกันหลายฝ่าย รัฐบาลคงคิดรอบคอบแล้ว ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงว่า จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาในพื้นที่หรือไม่นั้น คิดว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงมากนัก เพราะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็ทำงานของตนเองไป ซึ่งรัฐบาลน่าจะทำความเข้าใจกับประชาชนได้ และเชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจว่า รัฐบาลพยายามช่วยแก้ไขปัญหา
เมื่อถามต่อว่าหนักใจหรือไม่ที่มีการแต่งตั้งกลุ่มวาดะห์ 9 คนมาเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เพราะประชาชนในพื้นที่ยังมีอคติกับคนกลุ่มนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่หนักใจ และไม่เคยหนักใจ เพราะทหารมีหน้าที่ทำงานตามคำสั่งของรัฐบาล ถ้าเขาเข้ามาช่วยแก้ปัญหาก็เป็นสิ่งที่ดี ส่วนทหารก็ทำงานต่อไปไม่มีปัญหา