xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.จี้รัฐรับมือภาวะฉุกเฉินพลังงาน ชี้พิษค่าแรง 300 ทำคนตกงาน-ต่างด้าวทะลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากแฟ้ม)
ที่ประชุมวุฒิสภา “วิบูลย์” จี้รัฐบาลเร่งหามาตรการรองรับวิกฤตพลังงาน หลังประกาศภาวะฉุกเฉิน เม.ย.นี้ แนะเร่งเจรจาซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมกับหยิบแผนใช้นิวเคลียร์มาทบทวน ด้าน ส.ว.กาฬสินธุ์ชี้นโยบาย 300 บาททำคนตกงาน-แรงงานต่างชาติทะลักเข้าไทย ระบุนโยบายเยียวยา ลดภาษี-ธงฟ้า ไร้ประสิทธิภาพ จี้นายกฯ-แรงงาน-พาณิชย์ ดูแล

วันนี้ (18 ก.พ.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่การพิจารณาระเบียบวาระได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้หารือ โดยนายวิบูลย์ คูหิรัญ ส.ว.สรรหา กล่าวหารือผ่านประธานวุฒิสภาไปยังนายกรัฐมนตรี กรณีที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานไฟฟ้าในเดือนเมษายนนี้ เนื่องจากได้รับการแจ้งยืนยันว่าทางประเทศพม่าจะหยุดส่งก๊าซมายังประเทศไทย เพื่อดำเนินการซ่อมท่อส่งก๊าซประจำปี ซึ่งที่ผ่านมาทางประเทศพม่าจะมีการซ่อมในระหว่างช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี แต่ในปีนี้จะดำเนินการซ่อมในระหว่างวันที่ 4-12 เม.ย. และจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะประเทศไทยต้องพึ่งพาก๊าซจากประเทศพม่ามากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าของไทย ซึ่งประเทศไทยใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 68 เปอร์เซ็นต์ ของเชื้อเพลิงทั้งหมดที่ใช้ในการผลิต ซึ่งควรจะต้องหาเชื้อเพลิงชนิดอื่น มาลดเปอร์เซ็นต์การใช้ก๊าชในการผลิต

นายวิบูลย์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาตนได้เคยตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับการเกิดวิกฤตด้านพลังงานไฟฟ้ามาโดยตลอด เพราะกำลังสำรองผลิตไฟฟ้าของประเทศมีเพียง ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของกำลังผลิตทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาความต้องการด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 8 เปอร์เซ็นต์ แต่กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าเก่าทั้งสิ้น มีประสิทธิภาพต่ำ ที่สำคัญใช้เชื่อเพลิงในการผลิตเป็นประเภทน้ำมันเตา น้ำมันดีเซล ซึ่งเชื้อเพลิงประเภทดังกล่าวจะทำให้ค่าไฟมีราคาสูงขึ้นมาก

ทั้งนี้ รัฐบาลควรจะต้องเร่งการเจรจาซื้อไฟจากเขื่อนท่าซางและหะกีของประเทศพม่าอย่างเร่งด่วน และเร่งการสร้างเขื่อนไชยะบุรี และโรงไฟฟ้าถ่านหินที่หงสาในประเทศลาวด้วย รวมทั้งต้องมีการเตรียมการไปสู่การใช้พลังงานนิวเคลียร์ด้วย ส่วนมาตรการแก้ไขในเดือนเมษายนทราบว่าจะแก้ไขโดยให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพิ่มและผลิตไฟฟ้าจากก๊าชแอลเอ็นจีช่วย และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดินเครื่องสำรองใช้น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล ช่วยในการผลิต แต่มาตรการรองรับดังกล่าวจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้จะมีการผลิตไฟฟ้าพลังนำตามเขื่อนที่มีให้มากขึ้น แต่อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมให้ท้ายเขื่อนจึงขอให้ควรระมัดระวังด้วย

ด้านนายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ตนขอฝากถึงรัฐบาลในการแก้ปัญหาวิกฤติพลังงาน 3 ระดับ คือ ในระยะสั้นขอให้รัฐบาลเตรียมเรื่องพลังงานสำรองมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า เช่น น้ำมันเตา แต่อาจจะส่งผลให้ค่าเอฟทีมีอัตราสูงขึ้น รวมทั้งประสานไปยังประเทศลาวขอให้เร่งผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำที่มีอยู่ ส่วนระยะกลาง ตามที่รัฐบาลมีโครงการประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าจากภาคเอกชน (ไอพีพี) โดยใช้พลังงานจากแก๊สอีก 5,400 เมกะวัตต์ ซึ่งเดิมทีมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแก๊สอยู่แล้วประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ หากมีการประมูลเพิ่มอีกตามจำนวนดังกล่าวก็จะทำให้สัดส่วนของการใช้แก๊สยิ่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นในอนาคตอีกหรือไม่ หากต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงจากแก๊สมากเกินไป และในระยะยาวรัฐบาลควรต้องพิจารณาทบทวนแหล่งพลังงานที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นพลังงานทดแทน หรือพลังงานน้ำทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน หรือให้มีการทบทวนเรื่องการใช้พลังงานถ่านหิน

ขณะที่นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ส.ว.กาฬสินธุ์ หารือถึงผลกระทบของการขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2556 โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2555 ทำให้ต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 62 เปอร์เซ็นต์ และในจังหวัดที่ค่าแรงยังน้อยอยู่ก็ขึ้นกันเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้เป็นนโยบายที่ดี เพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน แต่ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่ใช้แรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบ ทำให้การแข่งขันสู้คู่แข่งไม่ได้ แรงงานต่างชาติก็ทะลักเข้ามาจำนวนมาก ปัจจุบันแรงงานที่ไม่มีฝีมือก็ขอค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ปริญญาตรี 15,000 บาท

นายสิทธิศักดิ์กล่าวอีกว่า ในช่วงแรกภาคธุรกิจก็ยอมรับ แต่หลังจากนี้อีกสักพักก็จะมีการปรับฐาน คนที่ไม่มีคุณภาพก็จะถูกคัดออกจากระบบ จึงขอให้รัฐบาลเตรียมการป้องกันคนที่จะตกงาน เพราะไม่สามารถพัฒนาฝีมือคนเหล่านี้รองรับกับราคา 300 บาท ที่ผู้ประกอบการจะจ้างได้ รัฐบาลมีนโยบายลดภาษี เพิ่มการอบรม พัฒนา และการกู้เงินให้แก่เอสเอ็มอี การขายสินค้าราคาถูกธงฟ้า ถือเป็นนโยบายที่ไม่ค่อยได้ผล เพราะมีคนที่ได้รับอานิสงส์น้อยมาก อย่างไรก็ตามการออกนโยบายของรัฐบาลควรจะมีการเตรียมการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นให้มากกว่านี้ โดยฝากไปยังนายกรัฐมนตรี รมว.แรงงาน และ รมว.พาณิชย์ หาทางป้องกันที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ตนกลัวว่าต่อไปจะมีการหาเสียงเพิ่มค่าแรง 400-500 บาทอีกจะส่งผลกระทบ


กำลังโหลดความคิดเห็น