ที่ประชุม ก.ต.ช. นายกฯ สั่งแก้ปัญหาสร้างโรงพัก ผบ.ตร.เผยวางแนวทางดูเรื่องสัญญา เตรียมแผนใหม่หากยกเลิกสัญญา ช่วยเหลือโรงพักที่ยังขาดแคลน ขณะเดียวกันนายกฯ ฝากดูปัญหาค้ามนุษย์ ชาวโรฮิงญา บูรณาการซีซีทีวี และปัญหาไฟใต้วิเคราะห์ข้อมูลรอบคอบ ชี้อาจไม่ใช่ก่อเหตุป่วนอย่างเดียว อีกด้านอนุมัติตำแหน่งนายพลเพิ่มในตำรวจราชสำนักประจำ พร้อมระบุ สตช. เตรียม 10 โครงการรับประชาคมอาเซียน ตามยุทธศาสตร์ประเทศ
วันนี้ (8 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.00 น. พล.ต.ต. ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า ในที่ประชุมวันนี้นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 5 เรื่อง คือ เรื่องที่ 1 เรื่องการก่อสร้างสถานีตำรวจที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ โดยนายกฯ ได้เร่งรัดให้ สตช.แก้ปัญหา โดยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่หัวหน้าสถานีตำรวจและข้าราชการตำรวจทั้ง 396 แห่งให้เข้มแข็ง ทำงานภายใต้ความขาดแคลน และสามารถแก้ไขปัญหาได้ลุล่วง
โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม โดยแบ่งแยกการแก้ไขปัญหาออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ เรื่องการดำเนินการสัญญาต่างๆ ซึ่งขณะนี้ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร.ดูแลเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งประสานงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่วนที่ 2 สตช.ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อเตรียมแผนงานในกรณีหากมีการยกเลิกสัญญา และมีการจัดทำสัญญาใหม่โดยเน้นการกระจายอำนาจ และส่วนที่ 3 การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในขณะระหว่างไม่มีที่ทำการ เน้นให้ประชาชนได้รับบริการอย่างเต็มที่ และตำรวจสามารถปฏิบัติงานได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา การเชิญผู้กำกับทั้ง 396 แห่งมารับนโยบาย วางแนวทางในการแก้ปัญหา และความช่วยเหลือต่างๆ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งที่ประชุมก็มีความพอใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
เรื่องที่ 2 นายกฯ ได้ฝาก และให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงาน เด็ก สตรี และกวดขันเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้ สตช.ดำเนินการแบบคู่ขนานกับกระทรวงมหาดไทย เรื่องที่ 3 นายกฯ กำชับเรื่องชาวโรฮิงญา โดยให้ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย และถูกต้องตามหลักมนุษยธรรม เรื่องที่ 4 เรื่องการบูรณาการติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วประเทศ สำหรับภาพรวมใน กทม. ผบ.ตร.แจ้งว่ามีแนวโน้มที่จะใช้ที่ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) เป็นศูนย์กลาง ส่วนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะใช้ศูนย์ปฎิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้เป็นศูนย์บริหารจัดการ ทั้งนี้ นายกฯ มีความมุ่งหมายให้ศูนย์บริหารดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหา มีซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย มีโมเดลที่สอดรับกันและเป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถบันทึกใบหน้าคนร้าย และหมายเลขทะเบียนรถได้ และในปลายเดือนนี้ ผบ.ตร.พร้อมคณะ และหน่วยงานเกี่ยวข้องจะไปติดตามดูงานการบริหารกล้องซีซีทีวีในประเทศต่างๆ ด้วย และเรื่องที่ 5 นายกฯ ได้ฝากถึงปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยฝากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และ สตช. ให้เน้นการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นจริงโดยละเอียดทั้งหมด มีการสืบสวนพยาน และพิสูจน์หลักฐานต่างๆ แยกสถานการณ์ ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากเรื่องส่วนตัวหรือไม่ หรือเรื่องการบริหารจัดการ เครื่องมือที่ไม่สมบูรณ์ หรือเป็นเรื่องของการก่อความไม่สงบ เพราะทุกเรื่องอาจไม่ได้เกิดจากปัญหาความไม่สงบเพียงอย่างเดียว
ด้าน พ.ต.อ.อนุชา รมยะนันท์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ก.ต.ช. ว่า การประชุมในวันนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรกของ ก.ต.ช. ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา 4 ท่าน ประกอบไปด้วย ศ.พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นางเบญจา หลุยเจริญ ด้านงบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร แต่งตั้ง ศ.พิเศษทศพร ศิริสัมพันธ์ และด้านการวางแผน และบริหารจัดการ พล.ต.ท.เหมราช ธารีไทย ซึ่งวาระสำคัญในการประชุมวันนี้ ได้มีการพิจารณาการจ่ายเงินทดแทนเงินประกันชีวิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นมติ ก.ต.ช. เดิมที่เห็นชอบให้ สตช. กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินดังกล่าว ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีได้มีการระบุว่า ควรที่จะมีการวางระบบของการจ่ายเงินกรณีดังกล่าวให้แก่ข้าราชการทุกส่วนอย่างเท่าเทียม ซึ่งทาง สตช. จะได้ประชุมวางระบบกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาการจัดแผงงานโครงการ และงบประมาณการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ของ สตช. และตามที่รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ประเทศไว้ 4 ยุทธศาสตร์ โดย สตช.มีความเกี่ยวข้อง 3 ยุทธศาสตร์ ซึ่งได้วางโครงการเพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนประมาณ 10 โครงการ เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาโครงสร้างด้านการตรวจคนเข้าเมือง เทคโนโยลีสารสนเทศ การอำนวยความยุติธรรม และการรักษาชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปประจำการ ในประเทศต่างๆ ในประชาคมอาเซียน เพื่อประสานงานเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น
พ.ต.อ.อนุชา ยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการกำหนดตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับผู้บังคับการขึ้นไป 2 เรื่อง ประกอบด้วย การกำหนดตำแหน่งในสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ มีการกำหนดตำแหน่งนายตำรวจราชสำนักประจำ ระดับผู้บัญชาการ เพิ่มขึ้น 1 ตำแหน่ง และระดับนายตำรวจราชสำนักประจำ 2 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับผู้บังคับการ และมีการกำหนดผู้บังคับการ กองบังคับการอำนวยการถวายความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีก 1 กองบังคับการ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเดินเรือ ของกองบังคับการตำรวจน้ำ เพื่อให้คำปรึกษาการวางแผนด้านยุทธศาสตร์ของตำรวจน้ำ
และที่ประชุมยังได้มีการทบทวนมติของที่ประชุม ก.ต.ช.ของปี 2555 ที่ได้มีการกำหนดให้ศูนย์ฝึกอบรมของตำรวจภูธรภาค 1-8 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตช.) ให้กลับมาสังกัดกองบัญชาการศึกษา แต่ทาง ส.ต.ช. ได้ให้เหตุผลทั้งในเรื่องของหลักการบริหารราชการ หลักการกระจายอำนาจ และรูปแบบการกระทำความผิดเฉพาะตัว ของแต่ละพื้นที่ที่จะสามารถนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ และแยกฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตอบสนองการทำงานในแต่ละพื้นที่ จึงได้เสนอว่าให้ศูนย์ฝึกยังอยู่กับต้นสังกัดดังเดิม ซึ่งที่ประชุมได้เห็นควรให้ทบทวนมติดังกล่าว และให้ศูนย์ฝึกทั้งหมดขึ้นอยู่กับกองบัญชาการตำรวจต้นสังกัดดังเดิม