“ส.ว.พิเชต” แนะรัฐเบรกเซ็นนำเข้าแรงงานบังกลาเทศทำประมง หวั่นซ้ำเติมปมโรฮิงญา ด้าน ส.ว.เพชรบุรี จี้ ครม.ทบทวนเปลี่ยนชื่อป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่าตะวันตกขึ้นมรดกโลก ชี้ทำความหมายเขื่อนเปลี่ยน แถมควบรวมป่าตากด้วย ซัด “ปลอด” ไม่รู้จริงอย่าคิดเปลี่ยน ขณะที่ ส.ว.บุรีรัมย์ จี้นายกฯ อย่าลอยตัวหนี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม - ปธ.วุฒิสภาแจ้งผลสอบ “ชวรัตน์” ยัน ป.ป.ช.ตีตกเหตุหลักฐานไม่พอโกงงบภัยแล้ง
วันนี้ (4 ก.พ.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภาที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธาน ก่อนการพิจารณาตามระเบียบวาระการประชุม ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ โดยนายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขอหารือไปยังรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน เพราะตนได้รับทราบมาว่ากระทรวงแรงงานกำลังทำสัญญานำเข้าแรงงานจากประเทศบังกลาเทศจำนวน 500 คนเพื่อนำมาเป็นแรงงานประมง เพราะขณะนี้ก็มีปัญหาเรื่องแรงงานพม่าที่แก้ปัญหาไม่ได้และยังไม่ได้ข้อยุติ ตนจึงไม่ต้องการให้มีปัญหาแรงงานบังกลาเทศอีก เกรงว่าแรงงานดังกล่าวจะชักจูงญาติพี่น้องมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น ขอให้รัฐบาลทำสัญญาครั้งนี้ด้วยความรอบคอบเพื่อผลประโยชน์ของชาติ
ด้าน น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี หารือถึงการขึ้นทะเบียนเชื่อแก่งกระจานเป็นมรดกโลกว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากหลายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดเพชรบุรี เช่น กลุ่มคนรักป่าแก่งกระจาน กลุ่มคนรักเมืองเพชร เป็นต้น ขอคัดค้านการเปลี่ยนชื่อคำว่า “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” หรือ “แก่งกระจาน ฟอเรสต์ คอมเพล็กซ์” มาเป็น “กลุ่มป่าตะวันตก” หรือ “ไทยแลนด์ เวสเทิร์น ฟอเรสต์ คอมเพล็กซ์”
“ทั่วโลกรู้จักในนาม “เขื่อนแก่งกระจาน” แต่เหตุใดนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี จึงเปลี่ยนไปใช้คำว่า “ผืนป่าตะวันตก” เพราะคำคำนี้จะมีพื้นที่ครอบคลุมถึงผืนป่าจังหวัดตาก ซึ่งไม่ใช่ อีกทั้งจะทำให้ความเป็นของเขื่อนเปลี่ยนไป ฉะนั้น รองนายกรัฐมนตรีซึ่งรู้ไม่จริงและไม่รู้ดีพออย่าคิดริเริ่มที่จะเปลี่ยนคำและลบคำว่า “แก่งกระจาน” ออกจากผืนป่าแห่งนี้ก่อนขึ้นมรดกโลกไม่รู้ดีพอ ทั้งนี้ ขอให้ ครม.ทบทวนมติใหม่ด้วย” น.ส.สุมลกล่าว
ขณะที่นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ขอฝากไปยังนายกรัฐมนตรีถึงเรื่องความสมานฉันท์สามัคคีของชาติ ขณะนี้ได้มีการเสนอแนวคิดร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ 4 ฉบับ ที่ค้างอยู่ในสภาฯ, ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของคณะนิติราษฎร์, ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของนายอุกฤษ มงคลนาวิน และร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรมฯ ของกลุ่มคนเสื้อแดง นอกจากนี้ หัวหน้าฝ่ายค้านเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม แต่ต้องกำหนดขอบเขตที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ พร้อมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ทั้งนี้ รายละเอียดอาจแตกต่างกันแต่จุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือ เพื่อความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศ แต่ที่น่ากังวลคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เคยแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวเลย ได้แต่ระบุว่าเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร จึงขอกราบเรียนว่านายกรัฐมนตรีจะต้องใส่ใจเรื่องนี้ให้มาก อย่าหนีปัญหาและความรับผิดชอบตรงนี้
อย่างไรก็ตาม ประธานวุฒิสภาได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ตามที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ถอนถอดนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่ามีการทุจริตในการจัดสรรงบประมาณภัยแล้งของปี 53 เข้าพื้นที่เขตเลือกตั้งของตนเองโดยไม่เป็นธรรม และละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตใช้งบประมาณแผ่นดินปี 53 ของกรมการพัฒนาชุมนุม (พช.)กระทรวงมหาดไทย จำนวน 10 ล้านบาท ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่มาตรา 272 แห่งรัฐธรรมนูญ บัดนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า มีหลักฐานไม่เพียงพอต่อการไต่สวนได้ว่านายชวรัตน์มีพฤติการณ์ส่อทุจริตในการจัดสรรงบประมาณภัยแล้ง และทุจริตงบประมาณของ พช. จึงขอให้ข้อกล่าวหานั้นตกไป