“มศว ประสานมิตร” ทำผลสำรวจเยาวชน กับการใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ระบุเหตุผลที่ใช้เลือกดูที่นโยบาย-ประวัติ ยกคิดเองจะเลือกใคร ชี้เข้าถึงข้อมูลทางทีวีมากสุด สิ่งที่คิดว่าโดนใจคืออยากเห็นผู้สมัครทำอย่างที่พูด รองลงมาหาเสียงสนุกผ่านสื่อออนไลน์ เผยสิ่งแวดล้อม-เศรษฐกิจควรแก้ แต่เรื่องจราจรขอเป็นเรื่องแรก
วันนี้ (1 ก.พ.) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) จัดทำผลสำรวจความเห็นประชาชน “มศว โพล” ในหัวข้อ “เยาวชนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” โดยระบุว่า เยาวชนถือเป็นทรัพยากรแห่งอนาคตที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้าในหลากหลายมิติรวมถึงการเมืองและระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้จึงไม่ควรมองข้ามหรือละเลยกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของเยาวชนที่มีต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จึงได้สำรวจความคิดเห็นของเยาวชนที่มีสิทธิเลือกตั้งในเกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,056 คน ระหว่างวันที่ 25-31 มกราคม 2556 สรุปผลได้ดังนี้
เมื่อถามความเห็นในเรื่อง “เหตุผลสำคัญ” ที่เยาวชนใช้ในการตัดสินใจเลือก “ผู้ว่าฯกทม.” อันดับ 1 ร้อยละ 38.20 มองที่ นโยบายของผู้สมัคร ส่วนอันดับ 2 ร้อยละ 27.68 มองที่ ประวัติ/ผลงานของผู้สมัคร และอันดับ 3 ร้อยละ 19.18 มองที่ ประสบการณ์การทำงาน ขณะที่อันดับ 4 ร้อยละ 14.94 มองที่ สังกัดพรรคการเมือง ส่วน “บุคคล” ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือก “ผู้ว่าฯกทม.” คือ เยาวชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.24 คิดว่าเป็นตัวเอง รองลงมาอันดับ 2 ร้อยละ 24.80 คิดว่า คนในครอบครัว ขณะที่ร้อยละ 8.06 คิดว่าสื่อมวลชน และร้อยละ 7.90 คิดว่าเป็นเพื่อน
และเมื่อถามต่อว่า “สื่อ/ช่องทาง” ที่ทำให้เยาวชนรับรู้ข่าวสาร นโยบาย ของผู้สมัครต่างๆ คือ อันดับ 1 ร้อยละ 48.95 เห็นว่าเป็นโทรทัศน์ ส่วนอันดับ 2 ร้อยละ 23.91 เห็นว่าเป็นโปสเตอร์/ป้ายหาเสียง และอันดับ 3 ร้อยละ 13.89 เห็นว่าเป็นโซเชียลมีเดียส์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ขณะที่อันดับ 4 ร้อยละ 9.53 เห็นว่าเป็นหนังสือพิมพ์ และยังมีความเห็นอื่นๆอีก ร้อยละ 3.72 มีความเห็นเช่นวิทยุ การปราศรัย เป็นต้น ส่วนคำถามที่ว่า “ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.” ต้องหาเสียงแบบใด? จึงจะโดนใจเยาวชน อันดับ 1 ร้อยละ 33.81 มองว่า เป็นนโยบายที่พูดแล้วสามารถได้ทำจริงและเน้นทำเพื่อส่วนรวม ขณะที่อันดับ 2 ร้อยละ 28.57 มองว่า หาเสียงผ่านสื่อออนไลน์ โพสต์คลิปหาเสียงแบบสนุกๆ ลง Youtube, Facebook และอันดับ 3 ร้อยละ 20.48 มองว่า เข้ามาจัดเวทีหาเสียงในสถาบันอุดมศึกษา /พูดคุยกับวัยรุ่นแบบถึงตัว ส่วนอันดับ 4 ร้อยละ 17.14 มองว่า จัดกิจกรรม คอนเสิร์ต /การแข่งขันกีฬาเพื่อดึงดูดความสนใจของวัยรุ่น
ขณะที่คำถามที่ว่า นอกจากปัญหาจราจรแล้ว เยาวชนอยากให้ “ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่” แก้ปัญหาเรื่องใด อันดับ 1 ร้อยละ 30.87 คิดว่าสิ่งแวดล้อม /มลพิษ ส่วนอันดับ 2 ร้อยละ 26.17 คิดว่าเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ /ปัญหาปากท้อง และอันดับ 3 ร้อยละ 22.15 คิดว่ายาเสพติด อบายมุข การพนัน/แหล่งมั่วสุม ด้านอันดับ 4 ร้อยละ 20.81 คิดว่าเด็กนักเรียนยกพวกตีกัน /ทำร้ายร่างกาย ขณะที่ข้อคำถามที่ว่า สิ่งที่เยาวชนอยากให้ “ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่” ทำเป็นเรื่องแรก คือ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.60 เห็นว่าการแก้ปัญหาจราจร รองมาร้อยละ 10.08 เห็นว่าการเร่งดำเนินการตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ และร้อยละ 8.87 เห็นว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ส่วนร้อยละ 6.45 เห็นว่า ระบบการขนส่งมวลชนต่างๆ