รองโฆษก พท.ป้องนโยบายไร้รอยต่อหาเสียงชิงผู้ว่าฯ กทม.เอาเปรียบคน ตจว. แจงงบแต่ละพื้นที่ตามสัดส่วน หาก รบ.ช่วย กทม.ใช้งบอย่างคุ้มค่า ยกคน ตจว.อาศัย กทม.แยะรับอานิสงส์ตาม ชูเมืองหวงพัฒนา ตจว.รับประโยชน์ตาม โยน ส.ก.ปชป.แยะไม่ต้องกลัวจะไม่ถูกตรวจสอบ
วันนี้ (31 ม.ค.) ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ตามที่มีผู้กล่าวหาว่านโยบายไร้รอยต่อจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับคนต่างจังหวัด เพราะเอาภาษีคนทั้งประเทศมาทำประโยชน์ให้คน กทม.นั้น เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้อง อันที่จริงหาก กทม.จะได้รับเงินอุดหนุนโครงการต่างๆ จากรัฐบาลก็ไม่ได้แปลว่าคน กทม.กำลังเอาเปรียบคนต่างจังหวัด เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลคนทั้งประเทศอยู่แล้ว รวมทั้ง กทม.ด้วย
รองโฆษกเพื่อไทยกล่าวต่อว่า ตามกฎหมายแล้วรัฐบาลก็มีหน้าที่นำภาษีของคนทั้งประเทศมาจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดต่างๆ และส่วนท้องถิ่นในต่างจังหวัด ผ่านกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว ส่วนจะได้มากหรือน้อยก็เป็นไปตามสัดส่วน ความเล็กใหญ่ขององค์กรส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ไม่ใช่ว่า อยู่ดีๆ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเอางบประมาณมาทุ่มเทให้ กทม. แต่เป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องทำอยู่แล้ว ขอย้ำว่าการไร้รอยต่อไม่ได้แปลว่ารัฐบาลจะตั้งเป้าเพิ่มงบประมาณให้ กทม.จนไม่เป็นธรรมกับจังหวัดอื่น แต่การประสานงานที่ดีระหว่าง กทม.และรัฐบาลจะทำให้ กทม.สามารถบริหารงบประมาณที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น
นอกจากนี้ ปัจจุบันคนต่างจังหวัดก็เข้ามาอาศัยในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก โดยในจำนวนผู้ที่อาศัยอยู่ใน กทม.10 กว่าล้านคนนั้น เป็นคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม.จริงๆ เพียง 5,670,469 คน เท่านั้น (ข้อมูล พ.ย. 2555) อีก 5 ล้านกว่าคนเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาใช้ชีวิตใน กทม. ซึ่งคนต่างจังหวัดเหล่านี้ย่อมต้องได้รับประโยชน์จากบริการต่างๆ ของ กทม.อยู่แล้ว เราจึงไม่ควร มอง กทม.แบบตัดขาดจากจังหวัดอื่นโดยสิ้นเชิง แม้จะเป็นเขตปกครองพิเศษ เพราะ กทม.คือส่วนหนึ่งของประเทศไทย ไม่ได้ตั้งอยู่อย่างเอกเทศ ที่สำคัญ เมื่อ กทม.ได้รับการพัฒนาก็จะมีเม็ดเงินและความเจริญไหลย้อนกลับไปยังจังหวัดอื่นๆ เพราะเป็นเมืองหลวงของประเทศ
ส่วนที่กลัวกันว่า เมื่อไร้รอยต่อและผู้ว่าฯ มาจากพรรคเดียวกับรัฐบาลแล้วจะตรวจสอบไม่ได้ก็ไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันสมาชิกสมาชิกสภา กทม. (ส.ก.) ส่วนใหญ่มาจากพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว โดยในจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด 61 คน เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 47 คน เพื่อไทย 13 คน และภูมิใจไทย 1 คน นอกจากนี้ยังมีองค์กรอิสระ และภาคประชาชนเป็นกลไกตรวจสอบผู้ว่าฯ ได้อีก จึงไม่ต้องกลัวว่าจะตรวจสอบผู้ว่าฯ ไม่ได้