ผ่าประเด็นร้อน
ถ้าไม่เรียกว่า “เหลี่ยมจัด” ก็ไม่รู้จะเปรียบเทียบอย่างไรให้เห็นภาพแล้ว เพราะหลังจากที่สังคมเค้นคอให้รัฐบาลแสดงท่าทีในการปกป้องดินแดนในกรณีปราสาทพระวิหาร และภาพการ “ขายชาติ” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ที่ทำตัวไม่ต่างจาก “สมุนเขมรฮุนเซน” และเลยเถิดมองไปถึงเจตนาสมรู้ร่วมคิดยกดินแดนแลกผลประโยชน์ด้านธุรกิจพลังงานในอ่าวไทย สัมปทานในเกาะกงรวมทั้งสารพัดธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ให้กับ “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร
ภาพกำลังติดลบ ติดตา เพราะผลสำรวจที่ออกมาชาวบ้านมองออกว่ารัฐบาลไม่ได้จริงจังในการต่อสู้เพื่อปกป้องอธิปไตยกับเขมร
อีกทั้งยังมีความรู้สึกในเรื่อง “ของแพง” กำลังประดังเข้ามา สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาล นอมินี ที่นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่แล้วจู่ๆ ก็ดันมีการผลักดันเรื่อง “พระราชกำหนด” นิรโทษกรรมเสนอโดย พวกแกนนำคนเสื้อแดงซึ่งหากพูดให้ดูสุภาพก็ต้องบอกว่าเป็น “ลูกน้อง” ของตัวเอง ทำท่าทางขึงขัง เจตนาเบื้องต้นเหมือนกับว่าต้องการนิรโทษฯให้เฉพาะพวก “มวลชนรากหญ้า” แต่ถ้าพิจารณาให้ดีก็จะพบว่าในร่างดังกล่าวที่มีเพียง 4 มาตรามีเนื้อหา “คลุมเครือ” ว่ายกเว้นเฉพาะพวกสั่งการ หรือแกนนำ และเจ้าหน้าที่รัฐ
บรรดาแกนนำแดง ทั้งธิดา ถาวรเศรษฐ จตุพร พรหมพันธุ์ หรือแม้แต่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในตอนแรกก็ทำท่าทางขึงขังดุดันว่ารัฐบาลจะปฏิเสธไม่ได้ โดยตามกำหนดการเดิมบอกว่าจะยกขบวนมายื่นเรื่องให้ถึงมือนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทำเนียบรัฐบาลวันประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา นัยว่าเป็นการกดดันให้ลงชื่อรับรองในร่างกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้บังคับทันที
แต่กลายเป็นว่ามีเพียงกลุ่ม “หัวครก” 112 ที่ตั้งเวทีปราศรัยชุมนุมกดดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมทางการเมือง แม้ว่ากรณีนี้จะมีภาพเหมือนว่าเป็นการกดดันพวกเดียวกัน หรือ “แดงแตก” อะไรประมาณนั้น แต่ถ้าสังเกตให้ดีบรรดาแกนนำ “กลุ่มนิติราษฎร์” อย่าง วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็ยังเป็น “อีแอบ” ไม่ได้ออกหน้าขึ้นเวทีด้วยตัวเอง แม้ว่าภาพจะออกมา “เสียเหลี่ยม” บ้าง แต่ก็อย่างน้อยก็ช่วย “สร้างกระแส” ทำให้รัฐบาลต้องหันมาพิจารณาข้อเรียกร้องกันมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายก็ยัง “คลุมเครือ” อยู่ดี นั่นคือยังใช้ “มวลชนรากหญ้าเป็นตัวประกัน” โดย “ตบตา”พ่วงลบล้างความผิดให้กับ ทักษิณ ชินวัตร กับพวกแกนนำเสื้อแดงซ่อนไว้ข้างหลัง
สิ่งที่เห็นพิรุธและร่องรอยได้ชัดเจนก็คือจู่ๆก็มีความเคลื่อนไหวออกมาของ อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลก็เสนอเป็น “ร่างพระราชบัญญัติ” นิรโทษกรรมเข้ามา “ประกบ”ทันที เนื้อหาโดยรวมก็ไม่ได้แตกต่างกัน เอื้ออาทรไปถึงทุกกลุ่มทุกสีและเพิ่มระยะเวลาเหตุการณ์ให้ยาวมากขึ้นไปอีก ยกเว้นคนสั่งการ แกนนำ และเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนกัน คลุมเครือเหมือนกัน
แต่ที่น่าสนใจก็คือ ฝ่ายรัฐบาลโดยวิปรัฐบาลกลับรับเรื่องแล้วส่งต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในข้อกฎหมายทันที ความหมายก็คืออาจยังไม่รีบร้อนในตอนนี้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการ “ทำทาง” หยั่งกระแสเอาไว้ก่อน และที่สำคัญยังเป็นการเบนความสนใจเรื่องประเด็น “ขายชาติ” และรักษามวลชนเสื้อแดงระดับชาวบ้านที่เสี่ยงชีวิตเป็น “นั่งร้าน” ให้มีความหวังต่อไปว่าจะช่วย ไม่ทิ้งแน่ แต่ให้รออีกนิดเดียว อะไรประมาณนั้น
แน่นอนว่าในเมื่อ ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่ายเริ่มรับรู้แล้วว่าแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลบล้างความผิดโดยวิธีการทำประชามตินั้นมันแทบเป็นไปไม่ได้เลย อีกทั้งยังชักช้าไม่ทันใจ สู้ใช้วิธีออกเป็นพระราชบัญญัตินิรโทษฯดีกว่า รวดเร็วกว่า และยังนำไปอ้างได้ว่าผ่านกระบวนการรัฐสภา มีธรรมเนียมปฏิบัติเป็นตัวอย่าง แม้ในเบื้องต้นจะทำให้เข้าใจว่าเจตนาเพื่อล้างผิดให้กับมวลชนทุกฝ่าย เพื่อ “ตบตา” สร้างกระแส แต่ในขั้นแปรญัตติ หรือแม้แต่เนื้อหาในร่างที่เตรียมเอาไว้ว่ายกเว้น “ผู้สั่งการและแกนนำ” นั้นใครจะเป็นคนชี้ และถ้าพิสูจน์ไม่ได้ละ คนพวกนี้ก็ต้องพ้นผิดด้วยหรือเปล่า
และนี่แหละคือเจตนาที่ “เหลี่ยมจัด” ซ่อนเอาไว้ และทำให้คลุมเครือเอาไว้ก่อน!!
อย่างไรก็ดี หาก ทักษิณ ชินวัตร กับพวกมีเจตนาดี มีความต้องการเห็นใจมวลชนชาวบ้านจากทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มีเจตนาต้องการให้บ้านเมืองสงบและเดินไปข้างหน้าอย่างแท้จริงในเบื้องต้นก่อน ก็ต้องกล้าประกาศว่าตัวเอง “ไม่ต้องการนิรโทษฯ” ไม่ต้องการได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ซึ่งก็รวมไปถึงบรรดาแกนนำทั้งหมดด้วย ถ้ากล้าแสดงท่าทีให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น ทุกอย่างมันก็ง่ายเข้า แต่นี่ทุกอย่างมันตรงกันข้าม ยังคิดเอาเปรียบหากินบนความเดือดร้อนของคนอื่นร่ำไป และที่สำคัญไม่เว้นแม้กระทั่งมวลชนที่บริสุทธิ์ใสซื่อยอมตายเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจอยู่ร่ำไป!!