xs
xsm
sm
md
lg

“ยูเอ็น” ขอบคุณไทยช่วยดูแล “โรฮิงญา” แนะถกทวิภาคี-กสม.เตรียมเสนอเวทีอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม เมื่อ 16 ม.ค. 56
กก.สิทธิฯ ถกปัญหาโรฮิงญา รอง ผบก.สงขลายันไม่พบขบวนการค้ามนุษย์ ชี้แม้เข้าเมืองผิด กม.แต่เป็นพม่าได้รับการผ่อนผันไม่ต้องถูกดำเนินคดี กต.เผยใช้เวลา 6 เดือนแก้ปัญหา ตัวแทนจากยูเอ็นเอชซีอาร์ พอใจไทยช่วยเหลือ สมาคมโรฮิงญาฯ วอนนานาประเทศร้องส่งกองกำลังสันติภาพเข้ารัฐยะไข่ ยุติฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ “หมอนิรันดร์” เตรียมเสนอเข้าสู่เวที กสม.อาเซียน ตั้งคณะทำงาน พร้อมจัดเวทีในพื้นที่

วันนี้ (28 ม.ค.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ ได้มีการพิจารณากรณีนายวินัย สะเล็ม ตัวแทนสมาคมโรฮิงญาประเทศไทย (บีอาร์เอที) พร้อมคณะ ยื่นคำร้องของให้กรรมการสิทธิฯ ให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่ถูกจับกุม ที่ จ.สงขลา เพื่อไม่ให้ส่งกลับประเทศพม่า โดยได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เข้าให้ข้อมูล

ทั้งนี้ จากการชี้แจงของผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลว่า ยอดของชาวโรฮิงญาที่อพยพเข้ามาทางทะเลอันดามันจะถูกควบคุมตัวมีทั้งสิ้น 1,486 คน และมีเด็กกับผู้หญิงอีกจำนวน 264 คน ที่ถูกส่งไปอยู่ในบ้านพักเด็กและครอบครัวใน 5 จังหวัดภาคใต้ โดยรัฐบาลได้จัดแพทย์เข้าดูแลเรื่องสุขภาพ และการให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่

นางเสาวนีย์ โขมพัตร ผอ.สำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมุนษย์ กล่าวว่า จากข้อมูลผู้หญิงและเด็กที่อพยพมาตรวจสอบแล้วไม่พบว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ขณะเดียวกัน เด็กและผู้หญิงที่อพยพมามีทั้งที่หัวหน้าครอบครัวถูกควบคุมตัวอยู่ที่ตรวจคนเข้าเมือง หรือยังอยู่ที่ประเทศต้นทาง ขณะที่บางคนครอบครัวก็มีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่ 3 ไปแล้ว โดยเวลานี้กาชาดสากลก็ได้เข้ามาพูดคุยว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ผู้หญิงและเด็กได้อยู่ร่วมกับครอบครัว

ด้าน พ.ต.อ.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ผู้ที่ไม่ได้เป็นคนไทยแล้วเดินทางเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามกฎหมายจะถือว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งหมด แต่พม่า ลาว กัมพูชา หากหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย แม้จะถือว่าผิดแต่ก็ได้รับการผ่อนผันให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามมติคณะรัฐมนตรี โดยให้สามารถผลักดดันออกนอกราชอาณาจักรได้เลย ซึ่งชาวโรฮิงญา จากการสอบถามมาจากรัฐอาระกันของประเทศพม่า ดังนั้นก็จะได้รับข้อยกเว้นไม่ถูกดำเนินคดีตามมติ ครม. ส่วนการอพยพที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีขบวนการค้ามนุษย์ไปเกี่ยวข้องหรือไม่ ในการสอบสวนพบว่าทุกคนล้วนสมัครใจเดินทางออกมา เพราะมีปัญหาในประเทศต้นทาง ไม่ได้ถูกบังคับ

“เรื่องการถูกแสวงหาประโยชน์ในทางเพศ เอามาเป็นทาส หรือตัดอวัยวะเพื่อนำไปขอทานนั้น แม้จะสืบพบว่ามีคนพามาก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการกระทำที่เข้าลักษณะค้ามุนษย์ หรือมีการข่มขืนอย่างที่เป็นข่าวในตอนแรก ส่วนผู้กระทำผิดฐานพามาให้ที่พักพิง ซึ่งเป็นคนต่างด้าว 7 คน คนไทย 4 คนนั้นกฎหมายไม่ได้ยกเว้นให้ ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเวลานี้อยู่ระหว่างฝากขัง เพื่อสรุปสำนวนส่งฟ้องศาล” พ.ต.อ.กฤษกรกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสมชาย หอมลออ อนุกรรมการได้พยายามที่จะซักถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าในการตรวจสอบ มีการมุ่งหาข้อเท็จจริงที่ทำให้โรฮิงญาเดินทางออกจากประเทศต้นทางว่ามาจากสาเหตุใดหรือไม่ และประเทศต้นทางคือประเทศใด และถ้ารัฐบาลดำเนินการกับโรฮิงญาเหล่านี้ในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมือง จะทำให้การพูดคุยกับประเทศต้นทางถึงสาเหตุที่ทำให้โรฮิงญาต้องอพยพออกมาทำได้ยาก และสุดท้ายก็จะมีปัญหาเรื่องของการกลับไปประเทศต้นทาง

ขณะที่นายวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ จากมูลนิธิไทยเพื่อคนที่มีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล มองว่า การอพยพของชาวโรฮิงญานั้นควรหรือไม่ที่จะถูกวางสถานะเป็นผู้ลี้ภัย ไม่ใช่ผู้หลบหนีเข้าเมือง และเป็นได้หรือไม่ที่กระทรวงการต่างประเทศจะให้ยูเอ็นเอสซีอาร์เข้าไปทำข้อมูลสถานภาพของโรฮิงญาที่เข้ามาว่าเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่ ซึ่งข้อมูลย้อนแย้งกัน เพราะถ้าบอกว่าโรฮิงญาที่เข้ามาเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองซึ่งผิดกฎหมาย แต่เราไปเจรจาเพื่อให้เขาสามารถไปตั้งรกรากในประเทศที่ 3

ด้านนายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ ผอ.กองสังคมกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีการประสานกับองค์กรต่างประเทศที่เกี่ยวข้องให้รับทราบข้อมูล เพื่อที่ต่อไปจะได้หารือถึงทางออกร่วมกัน ในระดับนโยบายรัฐบาลนายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะดูแลบุคคลดังกล่าวระยะหนึ่งก่อน แต่ไม่ใช่การดูแลจนไม่มีที่สิ้นสุด โดยเบื้องต้นให้ถือว่าโรฮิงญาที่เข้ามาเป็นผู้ลักลอบเข้าเมือง ซึ่งการตรวจสอบสัญชาติ ถิ่นที่มา ประเทศต้นทาง และทางออกของปัญหาว่าที่สุดจะให้เดินทางกลับไปประเทศต้นทาง ไปอยู่ร่วมกับครอบครัวที่อยู่ประเทศที่ 3 หรือถ้าไม่มีก็จำนำไปสู่การตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม ทั้งหมดจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งได้ตั้งกรอบการทำงานไว้เบื้องต้น 6 เดือน และเชื่อว่าการกำหนดสถานะของโรฮิงญาจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการหาทางออก

ขณะที่นายเอ็ม โกลัม อาบัส ผู้แทนยูเอ็นเอชซีอาร์ กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยและชุมชนในพื้นที่ที่ดูแลชาวโรฮิงญา และจากการลงไปดูในพื้นที่ทำให้ได้มุมมองในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานที่มีทักษะในการดูแลปัญหาดังกล่าวในเชิงลึก และการจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนควรใช้การหารือแบบทวิภาคี พหุภาคี เพราะปัญหาโรฮิงญาไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง

ส่วนนายหม่อง จอนุ ประธานสมาคมโรฮิงญาประเทศไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลพม่า อ้างว่าโรฮิงญาในรัฐยะไข่เป็นชาวเบงกาลี ของประเทศบังกลาเทศนั้นไม่จริง โรฮิงญาในรัฐยะไข่เป็นชาวพม่า มีบัตรประชาชนตั้งแต่ปี 1983 ทั้งหมดถูกรัฐบาลพม่าปราบปรามมานับ 10 ปี ถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ปีที่ผ่านมาหนักมากทำให้ผู้หญิงและเด็กต้องอพยพหนีตายออกมา ทุกวันนี้มีชาวโรฮิงญาหนีออกมาวันละไม่ต่ำกว่า 100 คน มีอีกหลายพันคนที่ถูกซื้อไปขายแรงงานโดยไม่ได้รับเงินอยู่ในเรือประมงกลางทะเล ซึ่งตนอยากขอให้นานาประเทศเรียกร้องไปยังสหประชาชาติให้ส่งกองกำลังสันติภาพเข้าไปในรัฐยะไข่ เพื่อให้การคุ้มครองคนในพื้นที่ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะยังมีการฆ่าล้างเผาพันธุ์เช่นนี้อยู่ต่อไปอีก

หลังการประชุม นพ.นิรันดร์ระบุว่าจะนำปัญหาดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อให้นำปัญหาเข้าสู่เวทีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน และจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาข้อเท็จจริง โดยจะเชิญทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม เบื้องต้นได้ประสานกับสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์มานุษยาวิทยาสิรินธรแล้ว รวมทั้งจะลงพื้นที่จัดเวทีเสวนาที่ จ.สงขลา เพื่อให้ข้อเท็จจริง สภาพปัญหา เพื่อนำไปสู่การเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น