ผ่าประเด็นร้อน
แกนนำ นปช.ในพรรคเพื่อไทยแสดงอาการเสียเส้น ทำเป็นฮึดฮัด ไม่พอใจรัฐบาลที่ไม่รับลูกการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2550-31 ธันวาคม 2554 ที่คนเสื้อแดง พยายามจะผลักดัน
นึกว่าคนเขารู้ไม่ทันกันหรือไง ว่ามันก็แค่ฉากหนึ่งของละคร “ต้มเสื้อแดง” ที่พวกแกนนำ นปช. เขียนบทขึ้นมาเล่นในช่วงจังหวะที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ใส่เกียร์ถอยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้แนวร่วมฝ่ายตัวเอง โดยเฉพาะคนเสื้อแดงที่ต้องการเห็นรัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จเสียทีตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ ไม่ค่อยสบอารมณ์
เลยมีการโยนเรื่องการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมดังกล่าวออกมาเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหวังทำให้เห็นว่า แกนนำยังไม่ทอดทิ้งคนเสื้อแดงที่ติดคุก และถูกดำเนินคดีจากกรณีการชุมนุมปี 53 โดยอ้างเหตุผลในการเสนอ ร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวไว้ว่า ประชาชนเหล่านี้สมควรที่จะได้รับการนิรโทษกรรมในคดีความอาญาทั้งปวง เพื่อเป็นทางออกให้ประเทศ
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว ที่เสื้อแดงมีการเขียนเอาไว้แล้วมีทั้งสิ้น 4 มาตรา ประกอบด้วย
มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้ เรียกว่า พระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาอันถึงที่สุด และผู้ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554
มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 3 บรรดาผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจากคำพิพากษาอันถึงที่สุด หรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งยังไม่ถึงที่สุด ให้ถือว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด และให้พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
ความในวรรคก่อนไม่รวมถึงบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าว
มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรี รักษาการตามพระราชกำหนดนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากเนื้อหาของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ซึ่ง นปช.ไปซุ่มเขียนกันมา แล้วจู่ๆ ก็งัดออกมา ก่อนหน้านี้ หากจำกันได้ ในการชุมนุมใหญ่เสื้อแดงเมื่อเดือนธันวาคม 55 ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ได้ประกาศปฏิญญาเขาใหญ่ 3 ข้อ ให้รัฐบาลเอาไปปฏิบัติ
คือ 1. ให้เดินหน้าโหวตวาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องทำประชามติ 2. ให้กระทรวงการต่างประเทศลงนามรับรองเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไอซีซี เพื่อให้ไอซีซีเข้ามาสอบสวนดำเนินคดี 98 ศพ
และ 3. เรื่องสุดท้ายก็คือเรื่องนี้ คือขอให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมกับผู้ชุมนุมทางการเมือง เพื่อช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ติดคุกจากคดีการเมืองในช่วงชุมนุมปี 53 ตามเรือนจำต่างๆ ประมาณ 20 กว่าคน และอีกหลายคนที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี
จะพบว่าข้อเรียกร้องสองข้อแรก คือ ให้โหวตวาระ 3 กับให้ลงนามรับรองอำนาจไอซีซี รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สนใจข้อเรียกร้องคนเสื้อแดงเลย พยายามหน่วงเหนี่ยว ถ่วงเวลาไว้ตลอด
ยิ่งเมื่อมาดูท่าทีของรัฐบาลในเรื่องการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ที่คนเสื้อแดงพยายามเสนอ จะพบว่าทั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงกับออกอาการมึนงงกับเรื่องนี้ บอกไม่เห็นทราบเรื่อง หลังสื่อยิงคำถามเรื่องนี้ไป
ขณะที่ วราเทพ รัตนากร รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลเรื่องการประสานงานระหว่างรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎร ก็ยังมีท่าทีไม่ตอบรับ
เหตุผลง่ายๆ ไม่ต้องคิดมากเลย ที่ทำไมรัฐบาลไม่รับลูก ก็เพราะรัฐบาลรู้ดีว่า เรื่องนี้หากเอาด้วยจะกลายเป็น “เผือกร้อน” เรื่องใหม่สำหรับรัฐบาล
ลำพังแค่เหตุผลความจำเป็นในการออก พ.ร.ก.ที่ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ต้องเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน กระทบกับความมั่นคงของประเทศ แค่นี้ ดูตามเหตุผลความจำเป็นในการออก พ.ร.ก. ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายแล้ว
ขืนรัฐบาลบ้าจี้ไปกับเสื้อแดง ก็มีสิทธิ์สูงจะมีคนยื่นคำร้องส่งไปศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ จะตกม้าตายเอากันง่ายๆ
ก่อนหน้านี้ แค่เรื่องการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท มาจัดการป้องกันน้ำท่วมเมื่อปี 54 รัฐบาลยังเสียวไม่หายกว่าจะลุ้นให้ศาลรธน.วินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แล้วหากมาออก พ.ร.ก.ให้ตามการเรียกร้องคนเสื้อแดง มีหวังได้ลุ้นหนักกว่าหลายสิบเท่า
ยิ่งเมื่อตามร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรมที่แกนนำ นปช.พยายามนำเสนอ ก็ยังไม่ชัดเจนในตัวบทกฎหมาย เพราะแม้เบื้องต้นแกนนำ นปช.อ้างว่า หากมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้จริง จะไม่มีผลในการล้างผิดให้กับแกนนำทุกสี รวมถึงนักการเมือง-ผู้สั่งการสลายการชุมนุม จะมีผลแต่เฉพาะกับประชาชน-ผู้ร่วมชุมนุมที่มาชุมนุมการเมืองเท่านั้น ส่วนคดีความต่างๆ ที่มีการเอาผิดแกนนำ หรือนักการเมือง เช่น การสั่งสลายการชุมนุม เมื่อช่วง 10 เมษายน 53 หรือ 19 พ.ค. 53 หรือการเอาผิดแกนนำนปช. ที่โดนคดีก่อการร้าย ก็จะไม่ได้รับอานิสงส์ใดๆ จาก พ.ร.ก.ฉบับนี้
กระนั้นก็มีความเห็นจาก ส.ส.เสื้อแดงเพื่อไทยบางคนที่ก็ยังมองว่า หากสุดท้ายถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าแกนนำคนเสื้อแดงมีการสั่งการให้ผู้ร่วมชุมนุมไปดำเนินการ จนนำไปสู่ความรุนแรง ก็จะทำให้แกนนำ นปช.อาจได้รับผลดีไปด้วยในการนิรโทษกรรม
ผนวกกับคำสั่งศาล เมื่อ 16 ม.ค. 56 ในคดีการไต่สวนชันสูตรศพของนายบุญมี เริ่มสุข ซึ่งถูกยิงบริเวณถนนพระราม 4 ในช่วงสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553
ที่คำสั่งศาลบอกตอนหนึ่งว่า แม้ไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ตายถูกยิงจากฝ่ายใด และใครเป็นผู้กระทำ แต่จากคำเบิกความของพยานพบว่า มีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่ม นปช. และใช้กระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) ยิงตอบโต้กับฝ่ายเจ้าพนักงานด้วย
จุดนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อแกนนำนปช.เพราะคำสั่งศาลดังกล่าว ย่อมทำให้เห็นว่า การชุมนุมของ นปช.ที่พวกแกนนำบอกว่าชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ที่เป็นข้อต่อสู้หลักของพวก นปช.หลายสิบคนที่โดนฟ้องคดีก่อการร้ายในเวลานี้ ไม่เป็นความจริง
ปัจจัยทั้งหมดทั้งการไม่เข้าข่ายที่จะออก พ.ร.ก.ได้ตามรัฐธรรมนูญ-ความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมายว่าจะทำให้แกนนำเสื้อแดงได้ประโยชน์พ่วงไปด้วยหรือไม่หากมีการออก พ.ร.ก.
ดังนั้น หากรัฐบาลไปเร่งรีบรับลูกตามที่พวก นปช.กดดัน ก็จะกลายเป็นผลเสียต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เอง ในฐานะผู้ใช้อำนาจ ครม.ออก พ.ร.ก.เพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ที่เสี่ยงต่อการจะถูกกระแสสังคมก่นด่า และถูกเอาผิดในข้อกฎหมายได้
การที่รัฐบาลไม่รับลูกเอาด้วย ก็เชื่อได้ว่าแกนนำ นปช.เองก็รู้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ส่วนที่ทำเป็นฮึดฮัด ไม่พอใจ ก็เล่นไปตามบท แต่อย่างน้อยพวกแกนนำก็ได้ในแง่ที่ว่า ทำให้มวลชนฝั่งตัวเองเห็นว่า ไม่ได้นิ่งเฉยในการช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดี ยังไงรัฐบาลจะเอาด้วยไม่เอาด้วย แกนนำ นปช.ก็ไม่เสียอะไร
มันก็แค่อีกบทหนึ่งใน “ละครแหกตา” เสื้อแดง ที่พวกแกนนำ นปช.ถนัดในการเล่นอยู่แล้ว