รมว.ต่างประเทศ ยันโรฮิงญาเป็นพวกหลบหนีเข้าเมืองต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย เบื้องต้นจะดูแล โดยนายกฯ สั่งให้ยึดหลักมนุษยธรรม พร้อมหารือองค์กรระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือ ด้าน ปชป.เสนอรัฐบาลประสานพม่า บังคลาเทศพิสูจน์สัญชาติเพื่อรับกลับประเทศ และต้องประสานต่างประเทศช่วยแก้ปัญหา
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ กล่าวในรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ถึงการแก้ปัญหาชาวโรฮิงญาว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ประชุมกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ต้องมองว่าโรฮิงญาเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง ทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามกฎหมายไทย แต่การดูแลเบื้องต้นคิดว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้งบประมาณสนับสนุนในการดูแลไปก่อน ส่วนระยะยาวก็ต้องประสานหน่วยงานระหว่างประเทศ และก็ต้องมีการแยกกลุ่มว่ามีโทษหรือมีภัยต่อประเทศหรือไม่ เราต้องทำทุกอย่างตามขั้นตอน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องนี้ ให้ยึดหลักมนุษยธรรมไว้ ให้การดูแล ให้ความสะดวก การที่จะผลักดันไปทันที คงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการทำ ต้องทำให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสะดวกก่อน สถานที่พักพิงก็มาคุยกัน โดยวานนี้ (18 ม.ค.) ได้ให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศคุยกับเลขาฯ สมช.เพื่อแก้ปัญหา จากนั้น ต่อไปก็ต้องคุยกับองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งมีหลายองค์กร เช่น กาชาดสากล องค์การสหประชาชาติ (UN) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ (UNHCR) ยูนิเซฟ ฯลฯ ก็มีหลายหน่วยงานที่ต้องพูดคุยกัน
ส่วนกรณีที่เกี่ยวพันกับขบวนการค้ามนุษย์นั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะไทยโดนกล่าวหาจากสังคมโลก อาจจะตกระดับที่อเมริกาออกมา เช่น ระดับ 2 เฝ้าระวัง หรือระดับ 3 ที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก เช่น สิ่งทอที่จะไปขายในสหรัฐฯ เรื่องนี้เราก็ต้องแยกแยะ ที่ตนได้เจอผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมือง ก็ได้เรียนไปว่าขบวนการที่ค้ามนุษย์ต้องปราบให้หมด ซึ่งกรณีของโรฮิงญา ที่มีข่าวว่ามีรถขน มีการไปกักขังไว้ เราก็ต้องดูเรื่องเหล่านี้ด้วย
ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนวทางแก้ปัญหาชาวโรฮิงญา โดยให้รัฐบาลไปเจรจากับประเทศพม่าและบังกลาเทศให้ยอมรับการมีตัวตนและให้สัญชาติกับชาวโรฮิงญาที่เกิดที่ประเทศนั้นๆ เพื่อลดปัญหาการอพยพ และประสานไปยังองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ (UNHCR) ในการเข้าไปพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ โดยอาศัยองค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้เข้าไปเจรจาต่อรองกับประเทศที่มีชาวโร ฮิงญา และเพื่อลดปัญหาการอพยพ
รวมถึงไทยอาจพิจารณารับกลุ่มโรฮิงญามาทำงานในสาขาอาชีพที่ไม่ต้องใช้ฝีมือ และทักษะ โดยให้มีการลงทะเบียนชาวโรฮิงญาอย่างถูกต้องและจำกัดจำนวน และกำหนดโซนนิ่งให้ชัดเจน รวมถึงเข้มงวดในการตรวจคนเข้าเมืองไม่ให้มีการค้ามนุษย์ ตลอดจนประสานไปยังประเทศที่ 3 ที่ต้องการแรงงานเหล่านี้ เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่เป็นชาวมุสลิมด้วยกัน นอกจากนี้ควรมีการประสานงานกับกลุ่มประเทศยุโรปและยูเอ็น ที่มีความพร้อมที่จะรับชาวโรฮิงญาในการหาถิ่นที่อยู่อย่างถาวรต่อไป