วุฒิฯ หารือปมพระวิหาร ส.ว.กลุ่ม 40 หนุน “ศ.ดร.สมปอง” เป็นที่ปรึกษา กม. เหตุมีประสบการณ์ตั้งแต่คดีที่ศาลโลกรอบแรก พร้อมจวกแก๊งนิติราษฎร์ หวังตั้ง คกก.ชี้ขาดปมขัดแย้งปฏิวัติเทียบสมัย รสช.ทำกระบวนการยุติธรรมเสื่อม “สนธยา” จี้ รบ.หนุนงบซื้อรถถังปกป้องอธิปไตย แนวพื้นที่จันทบุรี-ตราด “สุมล” ซัด รมว.ศธ. ทำเรื่องทรงผมนักเรียนเป็นเรื่องใหญ่ จี้โรงเรียนต้องมีกฎเหมือนบ้านเมืองมี กม.
วันนี้ (15 ม.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสูวาระ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา หารือถึงรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าขอเสนอให้เพิ่มที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทยในคดีปราสาทเขาพระวิหารอีกหนึ่งท่าน คือ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล เพราะทุกวันนี้รัฐบาลไทยจ้างที่ปรึกษาชาวต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษาจำนวน 3 คน ตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 ซึ่งทั้ง 3 ท่านจะร่วมวางรูปคดีการต่อสู้กับนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมทนายความต่อสู้คดี ทั้งนี้ตนไม่กังขาในความรู้ความสามารถของทั้งที่ปรึกษาชาวต่างชาติทั้ง 3 ท่าน แต่เห็นว่าควรมีคนไทยที่มีความรู้ความสามารถ เช่น ศ.ดร.สมปองเข้าร่วมทีม เพราะท่านเองก็มีส่วนร่วมในการต่อสู้คดีเขาพระวิหารภาค 1 ดั้งนั้นจะการเพิ่มที่ปรึกษาก็ไม่สามารถไปครอบงำหรือเป็นหลักของการตัดสินใจแต่อย่างใด เพราะการตัดสินใจเป็นการตัดสินใจร่วมกัน การจะเพิ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญอีก 1 คน ซึ่งเป็นคนไทยก็คงไม่มีอะไรเสียหาย
ส่วนนายประสาร มฤคพิทักษ์ สว.สรรหา หารือว่า ขณะนี้มีความพยายามในการท้าทายกระบวนการยุติรรมโดยการเดินหน้าการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยเรื่องนี้มีความพยายามมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 54 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) ได้มีความพยายามในการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 309 และล่าสุดกลุ่มนิติราษฎร์ได้มีข้อเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชี้ขาดในเรื่องความขัดแย้งและพิจารณาว่าใครบ้างที่มีเหตุจูงใจ หรือได้รับผลกระทบต่อเหตุการณ์ปฏิวัติเมื่อปี 49 ทั้งนี้ ตนเห็นว่าการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วในปี34 ซึ่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้เคยให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อมายึดทรัพย์นักการเมือง แต่กระบวนการศาลในขณะนั้นไม่ยอมรับ จึงทำให้ท้ายที่สุดไม่สามรถดำเนินการใดๆ กับนักการเมืองได้ ดังนั้น การตั้งคณะกรรมการตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎ์นั้นเป็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอยู่เหนือกระบวนการยุติธรรม ตนจึงขอถามว่าถ้าเป็นเช่นนี้จะเหลือความศักดิ์สิทธิ์อะไรในกระบวนการยุติธรรม
ด้าน พ.ต.อ.สนธยา แสงเภา ส.ว.สรรหา หารือว่าได้ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมาได้ และได้หารือเรื่องความมั่นคงกับพรรคพวก ซึ่งได้มอบเอกสารต่อท้ายบันทึกมาว่าหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) กองทัพเรือ ได้จัดตั้งกองกำลังจันทบุรี-จ.ตราด ที่ชายแดนกัมพูชา กินพื้นที่ จ.จันทบุรี-จ.ตราด ไปจนถึงหลักเขตที่ 73 บ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด คิดเป็นระยะทาง 250 กิโลเมตร ประเทศไทยยังมีสถานการณ์ความขัดแย้งที่อาจจะตึงเครียด ดังนั้นประเทศไทยต้องเตรียมตัวพร้อมรบ ซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ อาวุธต่อสู้รถถังระยะใกล้ ซึ่งกองทัพเรือได้จัดหาเครื่องยิงอาวุธปล่อยวิถีต่อสู้รถถังโท 1 จรวดอาวุธปล่อยวิถีสู้รถถัง ได้อนุมัติให้ นย. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 จำนวน 24 เครื่องยิง และยังเหลืออีก 144 ลูก แต่ขณะนี้ใช้ได้เพียง 2 ลูก จึงมีความกังวลใจมาก จึงอยากขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบกลางจัดซื้อรถถังเพิ่มเติม คันละประมาณ 160 ล้านบาท ถ้าจะซื้อในภาพรวมก็ 2, 500 ล้านบาท เพื่อกองกำลังจันทบุรี-จ.ตราด จะได้มีกำลังใจในการต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศชาติ
ขณะที่ น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวว่า ทรงผมนักเรียนเป็นปัญหาจริงหรือไม่ ตนเคยเป็นครูมาก่อนและได้เห็นการพัฒนาชีวิตของนักเรียนมาหลายสิบปีคิดว่าไม่น่าเป็นปัญหา ซึ่งถ้า รมว.ศึกษาธิการไม่บ้าจี้ไปหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การลิดรอนสิทธิ ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ชี้แจงแล้ว แต่เรื่องทรงผมเป็นกฎ กติกา ข้อบังคับของโรงเรียน เหมือนบ้านเมืองมีกฎหมาย ดังนั้นจึงอยากฝากไปยังรัฐบาลโดยเฉพาะ รมว.ศึกษาธิการ ควรแจ้งให้ทุกโรงเรียนใช้กฎกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2518 เพื่อไม่ให้เกิดการสับสน นอกจากนี้ ควรหาวิธีแนวทางพัฒนาการศึกษามากกว่าที่จะมาสนใจเรื่องทรงผมนักเรียน