xs
xsm
sm
md
lg

“พงศ์เทพ” ชี้ครูใต้พอยังไม่ขอ ตชด.ช่วย ลั่นเดินหน้าประชามติต่อ โยน กกต.ดู กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ และ รมว.ศธ.เผยครูชายแดนใต้พอใจมาตรการ รปภ. ยันปรับเปลี่ยนแผนตลอด ชี้บุคลากรยังพอ มีบัณฑิตอาสาช่วยสอนเพิ่ม ระบุครูย้ายออกแค่ช่วงเสี่ยง เมิน ตชด.ร่วมสอนบอกยังพอ ปัดยืมมือ กกต.ล้มประชามติ โยนองค์กรอิสระหาข้อยุติข้อกฎหมาย รับเชิญธรรมศาสตร์-จุฬาฯ-รามฯ ถกความเห็นด้านนิติศาสตร์ ยันยังเดินหน้าโหวตไม่เจอทางตัน โอ่ทีมกฎหมายสู้คดีพระวิหารเตรียมมากันดี

วันนี้ (15 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 08.30 น. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เรื่องมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยนั้น ทางสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายปกครองจะประสานการทำงานร่วมกันในการพิจารณาทั้งเรื่องหลักการใหญ่และรายละเอียด ซึ่งตัวแทนครูจะเข้ามาดูอย่างใกล้ชิด เพราะในแต่ละพื้นที่มีความเข้มข้นและความเสี่ยงไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะมีการปรับวิธีการในแต่ละพื้นที่ หากช่วงเวลาไหนมีความเสี่ยงมากก็จะมีการยกระดับในการดูแล และเท่าที่ผ่านมาทางครูก็พอใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ต้องมีการเสริมมาตรการอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า มาตรการเหล่านี้ไม่ได้เป็นมาตรการที่อยู่นิ่ง และมีการปรับเปลี่ยนตามที่ 4 ฝ่ายประชุมอยู่ตลอดเวลา เมื่อถามว่าขณะนี้บุคลากรครูมีเพียงพอหรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า ครูที่มีอยู่มีจำนวนเพียงพอ พอสมควร และขณะเดียวกันเรามีกลุ่มบัณฑิตอาสาที่อยู่หมู่บ้านละแวกนั้นมาช่วยสอน ทำให้บางแห่งที่ขาดแคลนครูบางวิชาสาขา บัณฑิตที่ตรงตามสาขาก็จะมาช่วยสอนเพิ่มเติมให้

ส่วนกรณีมีครูขอลาออกจากพื้นที่นั้น นายพงศ์เทพกล่าวว่า ส่วนใหญ่ยังคงยืนหยัดในพื้นที่ แต่มีบางโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและอาจมีความเสี่ยงมาก ซึ่งครูบางท่านก็จะย้ายออกมาในช่วงที่สถานการณ์มีความเสี่ยง ถามว่าบางพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากจำเป็นต้องใช้ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เข้าไปสอนหรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า ขณะนี้เรามีครูในพื้นที่ซึ่งเป็นบัณฑิตจบปริญญาตรีช่วยสอน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายพันคนช่วยเสริมเข้าไป

นายพงศ์เทพในฐานะคณะทำงานพิจารณาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกรงว่ารัฐบาลจะยืมมือ กกต.เพื่อล้มการทำประชามติว่า ไม่ได้ยืมมือ กกต.แน่นอน จริงๆ เราไปขอพบทางประธาน กกต.และคณะกรรมการ กกต. เพราะ กกต.เป็นผู้จัดการเวลาที่มีการออกเสียงประชามติ กฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ กกต.ก็เป็นคนออก เพราะฉะนั้นหากจะมีการทำประชามติก็ต้องไปถามท่านก่อน ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปพบประธานทั้งคณะ แต่ท่านกรุณามอบเลขาธิการและคณะมาพบกับเราก่อน เพื่อทราบแนวทางในการหารือ ซึ่งเราได้เรียนถึงประเด็นที่จะหารือไปแล้ว โดยตอนที่หารือกับเลขาฯ กกต.ว่ามีประเด็นตรงไหนที่ กกต.คิดว่าเป็นปัญหาในเรื่องของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเลขาฯ กกต.ก็มีการยกตัวอย่างขึ้นมาว่าทางกกต.ก็มีการถกกันในคณะกรรมการ กกต.เองว่ากฎหมายบางประเด็น กกต.ก็ยังไม่เห็นว่ามีความชัดเจนเท่าไหร่

เมื่อถามว่า ทางผู้ปฏิบัติเองมองว่ายังมีข้อกังวลและการตั้งข้อสังเกตกันอยู่ สุดท้ายต้องไปแก้เรื่องกฎหมายการทำประชามติอีกครั้งหรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า จากความเห็นของกกต.ในเรื่องกฎหมายบางเรื่องที่ยังมีความเห็นไม่สนิทใจ ตนเชื่อว่าทาง กกต.จะหาข้อยุติได้ เพราะมุมมองทางกฎหมายบางอย่าง จากการหารือที่ผ่านมาก็มีการยกขึ้นมา และตนก็ได้ยืนยันความคิดเห็นบางเรื่องกับทาง กกต.ไป เช่น เรื่องการทำประชามติในวันเดียวกัน ซึ่งต้องมีการทำทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย ทราบว่าทาง กกต.เองก็มีการถกอยู่เหมือนกันว่าในต่างประเทศและประเทศไทยจะทำวันเดียวกันอย่างไร

เมื่อถามถึงการหารือกับ 3 สถาบันหลักในวันนี้ (15 ม.ค.) นายพงศ์เทพกล่าวว่า ได้เรียนเชิญคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ของ 3 สถาบัน คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยารามคำแหง เพื่อหารือกรณีที่มีการเสนอว่าควรจะให้สถาบันการศึกษาพิจารณาให้ความเห็นทางด้านยุทธศาสตร์ นิติศาสตร์ เกี่ยวกับประเด็นในการทำประชามติที่มักจะมีความเห็นที่หลากหลายในบางมุมที่เป็นเรื่องของกฎหมายและรัฐศาสตร์ ซึ่งจะขอให้มาพิจารณาและให้ความเห็น เมื่อถามว่า ขณะนี้เรื่องการทำประชามติยังถือว่าเดินอยู่ใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเดินอยู่ ถามย้ำว่ายังไม่เจอทางตันใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ยังเดินอยู่

นอกจากนี้ นายพงศ์เทพยังกล่าวถึงการหารือกับทีมกฎมายก่อนเดินทางไปให้คำชี้แจงต่อศาลโลกกรณีปราสาทพระวิหาร จะมีการหารือถึงการไม่รับคำสั่งของศาลโลกด้วยหรือไม่ว่า เราจะฟังจากที่ปรึกษากฎหมายที่มีการเตรียมกันดี และมุมมองที่มีการเสนอมาบางเรื่องก็จะหยิบขึ้นมาหารือกันได้ เพราะที่ปรึกษากฎหมายจะทำเพิ่มเติมมาอีกมุมมองหนึ่ง ในฐานะที่มีความคุ้นเคยและเชี่ยวชาญกับการทำคดี และคุ้นเคยกับวิธีพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น