xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ให้ 2 เดือน 3 สถาบันวางธงแก้ รธน.แย้มประชามติแบบหารือ เลี่ยงพึ่ง 24 ล.เสียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
“วราเทพ” เผย “พงศ์เทพ” มอบ 3 สถาบันรัฐ ถกแผนแก้ รธน.ให้ชัด หลังส่งแก๊งแดงบี้ศาลไม่เป็นผล ย้ำไม่เกิน 60 วัน ได้บทสรุปส่ง ครม.ก่อนชี้ชัดจะลุยวาระ 3 แก้รายมาตราหรือประชามติ แจงเล็งถก กกต.ลักไก่ประชามติแบบปรึกษาหารือ แทนที่จะเป็นแบบยุติเด็ดขาด เหตุไม่ต้องใช้เสียง ปชช.เกินครึ่ง

วันนี้ (13 ม.ค.) นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีคณะทำงานมอบหมายให้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ และ รมว.ศึกษาธิการ ไปประสาน 3 มหาวิทยาลัยในสถาบันหลักทางด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ พิจารณาแนวทางการทำประชามติและแก้ไขรัฐธรรมนูญในมุมมองวิชาการ ว่า ประเด็นที่อยากให้สถาบันหลักทางด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ไปพิจารณา คือ ความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการลงมติในวาระที่ 3 ว่า ทำได้หรือไม่ได้อย่างไร จะได้สะท้อนให้เห็นชัดเจน เพราะดูเหมือนว่า มีผู้ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้แจงเพิ่มเติมในประเด็นนี้ แต่ทางศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เมื่อไม่ได้เป็นคำร้องศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถชี้แจงหรือวินิจฉัยได้ จึงจะได้สอบถามทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ในสถาบันหลัก รวมถึงสอบถามการทำประชามติมองว่ากฎหมายการทำประชามติปัจจุบันสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ หากทำประชามติต้องทำแบบไหน ผลจะเป็นอย่างไร โดยใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 60 วัน และคณะทำงานฯจะต้องรายงานกลับไป ครม.ว่า สิ่งที่ได้มอบหมายให้พิจารณาขั้นตอนแนวทางการทำประชามตินั้นได้ข้อยุติอย่างไร เมื่อสรุปแล้ว ครม.จะได้ไปพิจารณาว่าการทำประชามตินั้นจะเดินหน้าหรือไม่ ระหว่างนั้นหลายๆ ฝ่ายคงพิจารณาก็จะมาดูว่าควรจะเลือกแนวทางไหนระหว่างการลงมติวาระ 3 การแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือทำประชามติ ตนมั่นใจว่า 2 เดือนจากนี้จะได้เห็นความชัดเจน

นายวราเทพ กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลที่ว่าอาจจะไม่ได้เสียงไม่ถึง 24 ล้านเสียง ของผู้มาใช้สิทธิ หากรัฐบาลตัดสินใจให้มีการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง แต่กระบวนการทำประชามติ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ระบุไว้มี 2 แบบ คือ แบบปรึกษาหารือ และแบบหาข้อยุติเด็ดขาดนั้น หมายความว่า หากฝ่ายดำเนินการเสนอให้มีการทำประชามติแบบหาข้อยุติเด็ดขาด ก็ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ ประมาณ 24 ล้านเสียง แต่หากให้มีการทำประชามติแบบปรึกษาหารือไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งไว้ ตรงนี้ได้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ขอความเห็นไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า สามารถใช้ได้ทั้ง 2 แบบหรือไม่ หรือต้องใช้แบบใดแบบหนึ่ง เพราะกฎหมายไม่เขียนไว้อย่างชัดเจน เพราะเกรงว่าจะนำไปสู่การร้องเรียนได้ในภายหลังว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น