หัวหน้าประชาธิปัตย์ถามทีมแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนรวมได้อะไร งงไม่ยอมหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง “องอาจ” ชี้ควรดูข้อดีข้อเสียก่อนทำประชามติ ระบุถ้าปัญหามากก็ยุติแล้วไปแก้อย่างอื่น เผยนัดทีม ส.ก.-ส.ข. กทม.ถกความพร้อมเลือกตั้งผู้ว่าฯ ย้ำ 3 เรื่อง กระจายข้อมูล-ห้ามทำผิดกฎหมาย-ระวังใส่ร้ายป้ายสี
วันนี้ (12 ม.ค.) ที่สวนสยาม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการศึกษาข้อกฎหมายและแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความเป็นห่วงว่าหากมีการประกาศประชามติแล้ว อาจมีผู้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองให้พิจารณา ซึ่งจะอาจทำให้เกินเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำประชามติภายในเวลา 120 วัน หลังออกประกาศทำประชามติว่า สิ่งสำคัญต้องถามก่อนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญวัตถุประสงค์ที่แท้จริง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับส่วนรวมคืออะไร ซึ่งเหตุใดไม่หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
“การดำเนินการถามความเห็นของสถาบันการศึกษา 3 แห่งที่มีคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์นั้น ผมเห็นว่าอยู่ที่การยอมรับความจริงว่าเรื่องนี้เป็นความขัดแย้งในสังคม ซึ่งผู้ที่จะเสนอเรื่องนี้ต้องมีความชัดเจนว่าที่เสนอจะให้ทำนั้นเพื่อประโยชน์อะไร ต้องเริ่มต้นจากตรงนี้ แต่ถ้าเริ่มต้นว่าจะทำและคิดเพียงว่าจะหาวิธีการให้ทำได้ โดยไม่คำนึงถึงเสียงคัดค้านก็ไม่มีประโยชน์อะไร” ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าว
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชุมร่วมกับตัวแทนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวานนี้ ซึ่งที่ประชุมเน้นว่าจะทำประชามติอย่างไรถึงจะมีปัญหาน้อยที่สุด และรัฐบาลเองก็คงอยากให้มีปัญหาน้อยที่สุดเช่นกัน แต่ตนอยากให้รัฐบาลและ กกต.เน้นเป็นพิเศษ ในเรื่องของการทำประชามติ คือ ต้องคิดว่าทำอย่างไรถึงจะเกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เป็นไปอย่างถูกต้อง ดังนั้น รัฐบาลควรคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่หากเห็นว่าข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้น มีข้อเสียมากกว่ารัฐบาลก็ควรหยุดดำเนินการ เพราะการแก้ไขทั้งฉบับทอดระยะเวลามาเกือบครึ่งปีกว่าแล้ว ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ทั้งที่รัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ก็แสดงว่ามีปัญหาค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นแบบนั้นตนก็คิดว่าถ้าเรายุติเรื่องเหล่านี้ไว้ แล้วนำเวลาไปใช้แก้ไขปัญหาอื่นๆที่มีอยู่ก็น่าจะมีประโยชน์
นายองอาจ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงด้วยว่า วันนี้ได้มีการประชุมร่วมกับหัวหน้าศูนย์ประสานงานเขตพื้นที่ คือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) รวม 61 พื้นที่ โดยพรรคได้มอบหมายให้ ส.ก.เป็นหลักในการประสานแต่ละพื้นที่ หากพื้นที่ใดไม่มี ส.ก.เราก็จะใช้ ส.ส.ในเขตพื้นที่นั้น หรือพื้นที่ใดไม่มีทั้ง ส.ก.และส.ส. เราก็จะใช้ประธานสาขาพรรค หรือคนที่พรรคมอบหมายให้เป็นหัวหน้าศูนย์ประสานงานเขตพื้นที่ ทั้งนี้ตนได้ย้ำเตือนที่ประชุม 3 เรื่อง คือ 1. ให้แต่ละเขตกระจายข้อมูลข่าวสารของผู้สมัคร เพื่อให้ไปถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุดทุกวิถีทาง 2. เน้นห้ามหาเสียงผิดกฎหมายเลือกตั้งและข้อบังคับของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3. ให้แต่ละเขตระวังการสร้างเรื่องใส่ร้ายป้ายสีผู้สมัครของพรรค เพื่อนำเรื่องไปสู่การร้องเรียนของ กกต.