xs
xsm
sm
md
lg

แก๊งแดงบุกศาล รธน. จี้ให้ชัดประชามติคำแนะหรือวินิจฉัย-ม.ใดห้ามลุยวาระ 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แกนนำ นปช.ยื่นศาล รธน.บี้ทำคำวินิจฉัยให้กระจ่าง ประชามติแนะให้ทำหรือเป็นคำวินิจฉัย อ้างแค่ 1 เสียงบอกให้ทำ ส่วนห้ามลงวาระ 3 ชี้ให้ชัดขัด รธน.มาตราใดทำ รบ.ไม่เสี่ยงลุย อ้างติงเพื่อหาทางออกประเทศ หวั่นสูญงบ 2 พันล.โดยใช่เหตุ ยันศาล รธน.ต้องมีคำตอบ เลขาฯ ศาล รธน.ขอบคุณมาอย่างสุภาพชน

วันนี้ (10 ม.ค.) นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อม นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอความชัดเจนใน 2 ประเด็นจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่18-22/2555 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีการทำประชามติสอบถามความเห็นจากประชาชนก่อนใช่หรือไม่ รวมทั้งมาตราใดของรัฐธรรมนูญที่บอกถึงเจตนารมณ์ว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการทำประชามติ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งห้ามรัฐสภาลงมติวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ใช่หรือไม่ รวมทั้งอำนาจสั่งห้ามเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตราใด เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารมีความกระจ่างในแนวทางปฏิบัติ สามารถตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งได้

โดยนางธิดากล่าวว่า การมาสอบถามครั้งนี้ไม่ได้มาในลักษณะก้าวร้าว คุกคามศาล แต่เป็นความปรารถนาดีที่ต้องการมาหาทางออกให้กับประเทศชาติ ว่าตกลงแล้วที่ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุให้มีการทำประชามตินั้นเป็นคำแนะนำ หรือเป็นคำวินิจฉัย อีกทั้งเมื่อตรวจสอบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญพบว่ามีตุลาการเพียง 1 เสียงเท่านั้นที่ระบุว่าจะต้องมีการทำประชามติก่อน และศาลมีคำสั่งห้ามเดินหน้าลงมติในวาระ 3 นี้เป็นการอ้างรัฐธรรมนูญมาตราใด เพราะทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นที่มาของความชะงักงัน และสุ่มเสี่ยงให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่ปฏิบัติตามอาจจะนำไปสู่การกระทำผิดรัฐธรรมนูญได้

ด้านนายจตุพรกล่าวว่า งบประมาณที่จะใช้ในการทำประชามติสูงถึง 2 พันล้าน หากมีการดำเนินการไปแล้วเกิดปัญหาก็จะสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ 2 คำถามที่มีถึงศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมูลค่าถึงคำถามละ 1 พันล้าน ซึ่งไม่อยากให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตอบว่าไม่มีหน้าที่เหมือนที่โฆษกศาลรัฐธรรมนูญกล่าว เพราะในเมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นที่ยุติ ทุกฝ่ายอ่านแล้วต้องเข้าใจตรงกัน แต่คำวินิจฉัยกรณีดังกล่าวกลับต้องทายใจว่าคณะตุลาการฯ ต้องการอะไรกันแน่ และถ้าองค์กรนี้บอกไม่มีหน้าที่ก็ไม่รู้ว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรไหน

“ตามหลักในการพิจารณาจะต้องยึดตามเสียงข้างมาก แต่เมื่อตรวจดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละคน มีตุลาการฯ เพียงคนเดียวที่เห็นว่าต้องทำประชามติก่อน แล้วกลับไปเขียนรวมไว้เป็นคำวินิจฉัย ทำให้ไม่แน่ใจว่าตกลงแล้วเรื่องให้ทำประชามติก่อนเป็นคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำกันแน่ ถ้าหากรัฐสภาหรือรัฐบาลดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดไปโดยไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของคณะตุลาการ ก็อาจนำไปสู่กับดักได้” นายจตุพรกล่าว

ด้านนายเชาวนะกล่าวว่า จะรับเรื่องและเร่งนำเรื่องเสนอตามกระบวนการ และขอบคุณที่คณะมาอย่างสุภาพชน










กำลังโหลดความคิดเห็น