สมาชิกวุฒิสภา เรียกร้องรัฐบาลกำหนดท่าทีให้ชัดต่อข้อกังวลในการเสียดินแดนจากเหตุเขมรนำพื้นที่ปราสาทพระวิหารไปฟ้องศาลโลก พร้อมเสนอให้รัฐบาลและ “นช.แม้ว” ใช้ความสัมพันธ์ที่มีเป็นพิเศษกับรัฐบาลกัมพูชาเร่งแก้ปัญหาให้ราบรื่น ด้าน “มณเทียร” จี้รัฐกำกับดูแลรถไฟฟ้าฯ หลังออกกฎห้ามคนพิการใช้บันไดเลื่อน ระบุไม่เท่าเทียม
ที่รัฐสภา วันนี้ (8 ม.ค.) มีการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา หารือต่อที่ประชุมผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้บัญชาการกองทัพบก ถึงการเคลื่อนกำลังของทหารกัมพูชากว่า 80 นายที่เดินเท้าพร้อมอาวุธมาประจำการที่ช่องปลดต่าง และช่องกระทิงลง ตรงข้าม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมาว่า สะท้อนถึงสัญญาณความไม่ปลอดภัยของพี่น้องประชาชนตามแนวตะเข็บชายแดนเริ่มเกิดขึ้นแล้ว ในฐานะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา มีความเป็นห่วงและติดตามให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา
นายสมชายกล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีต้องแถลงให้ชัดเจน ต้องกำหนดท่าทีและดำเนินการเพิ่มประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ โดยเฉพาะข้อกังวลในการเสียดินแดน การที่กัมพูชานำเรื่องที่ผ่านมา 50 ปีมาขึ้นฟ้องศาลโลก โดยที่ประเทศไทยก็แถลงไม่ยอมรับอำนาจของศาลโลกเมื่อ 50 ปีที่แล้วเช่นเดียวกัน รัฐบาลปัจจุบันก็ไม่ควรรับด้วย ขณะเดียวกันก็ควรให้กัมพูชาถอนเรื่องนี้ออกไป
ส่วนกรณีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลปัจจุบัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งปรากฎชัดเจนในเอกสารของกรมสอบสวนคีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีผู้เกี่ยวข้องที่เป็นพยาน ระบุว่าหลังการสลายการชุมนุม 7 วันได้เดินทางไปที่พรรคการเมืองแห่งหนึ่งและถูกชักจูงจากการ์ด นปช.ให้ไปฝึกอาวุธที่กัมพูชา โดยมีการฝึกทั้งสิ้นจำนวน 39 คน ฝึกใช้เอ็ม 16 จรวดอาร์พีจี เอ็ม 79 ฝึกท่ายิงการจู่โจมและใช้กระสุนจริง ไม่รวมถึงนักการเมืองหลายคนที่พึ่งพึงรัฐบาลกัมพูชา ตนจึงขอให้รัฐบาลได้ใช้ความสัมพันธ์พิเศษกับรัฐบาลกัมพูชาในการแก้ไขปัญหานี้ให้ราบรื่น และไม่นำประเทศไปสู่การเสียดินแดน
ส่วนนายมณเทียร บุญตัน ส.ว.สรรหา หารือผ่านไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับการขนส่งมวลชน เนื่องจากว่าระบบการขนส่งมวลชนในประเทศไทยยังมีการออกแบบที่ไม่เป็นสากล และไม่เป็นธรรม ไม่ปลอดภัย ก่อให้เกิดการเข้าไม่ถึงอย่างไม่เท่าเทียม อย่างไรก็ตาม การที่บริการขนส่งมวลชนบางแห่งมีนโยบายจำกัดสิทธิคนพิการ เช่น กรณีรถไฟฟ้า โดยปกติคนพิการที่สามารถใช้บันไดเลื่อนได้ก็มีเป้นจำนวนมาก แต่อาจจะมีบางคนที่หกล้ม ประสบอุบัติเหตุ หรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย จึงทำให้กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้ที่ดูแลระบบรถไฟฟ้าออกกฎไม่ให้คนพิการไปใช้บันไดเลื่อน ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความไม่สะดวกต่อคนพิการ แทนที่จะมาออกกฎห้าม ควรใช้กรณีนี้ปรับบันไดเลื่อนให้ช้าลง เพราะไม่เคยประเทศไหนที่ปรับให้บันไดเลื่อนให้เร็วแบบประเทศไทย เพราะอ้างว่าเพื่อขนคนให้ทัน
“ขนาดโตเกียวที่มีคนใช้บริการขนส่งสาธารณะมากกว่าไทยหลายเท่า เขาก็ใช้เร็วไม่เท่าประเทศไทย การที่มีคนหกล้มเพียงคนเดียว แต่มาจำกัดสิทธิของผู้พิการทุกคน ถือเป็นการไม่เป็นธรรม และเป็นการเลือกปฏิบัติ รัฐบาลควรกวดขันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับความเร็วของบันไดเลื่อนเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุของทุกคนมากกว่าการจำกัดสิทธิคนพิการ”
นายสิทธิ์ศักดิ์ ยนต์ตระกูล ส.ว.กาฬสินธุ์ หารือว่า ประเทศไทยมีสถิติการเสียชีวิตมากในเทศกาลต่างๆ และสถิติในแต่ละปีไม่ลดลงเลย รัฐบาลต้องเอาในใส่ประเด็นนี้อย่างจริงจัง เพราะสร้างความเสียหายและสูญเสียบุคลากรที่มีคุณภาพเป็นจำนวนมาก ควรต้องรื้อระบบกฎหมายที่เกี่ยวกับการจราจร เพราะจะเห็นได้ว่ามีผู้ที่ไม่มีใบขับขี่เป็นจำนวนมากมาขับขี่รถยนต์บนท้องถนน และต้องมีการปลุกจิตสำนึกคนที่ใช้รถใช้ถนน ถึงเวลาแล้วที่จะเอาวาระการลดอุบัติเหตุเป็นวาระแห่งชาติ และปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด