“สมคิด” ขอดูธงรัฐบาลก่อนตัดสินใจเข้าร่วมศึกษาแก้ รธน. ย้ำต้องให้ความเป็นอิสระ ระบุหากรัฐฯ ให้เวลา 60 วันไม่ทันแน่ ขอเวลาศึกษาอย่างน้อย 6 เดือน ด้านนักกฎหมายชี้ศาล รธน.ไม่มีหน้าที่ให้คำปรึกษา เชื่อท้ายสุดจะไม่มีการแก้ไข รธน. เหตุ ส.ส.ห่วงสถานภาพไม่กล้าลงมติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 7 ม.ค. นายสมคิด เลิศไพทฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงข้อเสนอวงสัมนาพรรคเพื่อไทยที่ระบุให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชื่อดัง ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 60 วัน ว่า ต้องดูรายละเอียดว่ารัฐบาลจะให้ทำการศึกษาเรื่องอะไรก่อน จึงจะตัดสินใจได้ เพราะหากรัฐบาลมีธงไว้อยู่แล้วก็คงไม่สามารถทำให้ได้
ทั้งนี้ หากทราบความต้องการของรัฐบาลก็จะนำมาหารือในมหาวิทยาลัย และคัดสรรตัวนักวิชาการที่เหมาะสม พร้อมทั้งต้องถามความเห็นนักวิชาการที่ถูกคัดเลือกผู้นั้นว่าสนใจด้วยหรือไม่ และที่สำคัญรัฐบาลต้องให้ความอิสระ รวมทั้งเห็นว่าระยะเวลาในการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของมหาวิทยาลัยต้องใช้ระยะเวลาศึกษาอย่างน้อย 6 เดือน เพราะหากเป็นระยะเวลา 60 วันตามที่รัฐบาลเสนอ ตนเชื่อว่าไม่มีทางทำได้ทันแน่นอน
ขณะที่ นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนินิศาสตร์ มหาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดง เสนอทำหนังสือสอบถามการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นว่า ให้ย้อนกลับไปดูเมื่อสมัย 2543 กกต.เคยทำเรื่องขอปรึกษาไปยังศาลรัฐธรรมนูญและศาลฯ ก็ตอบกลับมาว่าไม่มีหน้าที่ให้คำปรึกษา มีหน้าที่เพียงวินิจฉัยคดีเท่านั้น ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยหรือคนเสื้อแดงเสนอเรื่องไปขอคำปรึกษาก็จะได้คำตอบเช่นเดียวกัน
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมดึงมหาวิทยาลัยชั้นนำทางกฎหมายมาเข้าร่วมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนเห็นว่าเป็นการหาส่วนร่วมเพิ่มขึ้นเท่านั้น และจะมีนักวิชาการที่เป็นกลุ่มใกล้ชิดรัฐบาลเข้าไปศึกษาพร้อมงบประมาณสนับสนุน ส่วนนักวิชาการที่มีความคิดเห็นตรงข้ามก็จะไม่เชิญมาร่วมพิจารณาศึกษาด้วย
ทั้งนี้เห็นว่า ในท้ายที่สุดแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่เกิดขึ้นได้ง่าย แม้กลุ่มเสื้อแดงพยายามจะเรียกร้องก็ตาม เพราะผู้ที่ลงมติคือ ส.ส.ที่ต้องห่วงตัวเอง รวมถึงกังวลต่อการยุบพรรคด้วย ดังนั้นเชื่อว่า ส.ส.และรัฐบาลจะต้องคำนึงถึงเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นหลัก ส่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้นก็คงถ่วงเวลาหลอกประชาชนต่อไป
นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาหน่วยงานใดๆ เพราะจะเอาเรื่องที่ยังไม่ได้ตัดสินไปถามก่อนได้อย่างไร โดยหน้าที่ของศาลมีเพียงการพิพากษาคดีเท่านั้น แต่รัฐบาลสามารถไปปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ ส่วนข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยที่เตรียมให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมศึกษารัฐธรรมนูญนั้น ตนมองว่าทำได้ แต่ต้องให้ความอิสระและให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้คัดเลือกนักวิชาการมาศึกษากันเองไม่ใช่ถูกแทรกแซงจากรัฐบาล โดยหยิบนักวิชาการคนโน้นคนนี้เข้ามาศึกษา