ข่าวปนคน
เริ่มต้นปี 2556 ด้วยข่าวดีของรัฐบาลที่ออกมาแสดงความภาคภูมิใจว่า “ยอดการคืนภาษีรถยนต์คันแรกทะลุเป้า” จากเดิมที่คาดเอาไว้ว่าจะมีผู้เข้าโครงการประมาณ 5 แสนราย ปรากฏทะลักเข้าไป 1.3 ล้านราย ทำรายได้รัฐหาย 9.05 หมื่นล้านบาท ทั้งที่วางแผนเตรียมเงินไว้ทำ “ประชาล่มจม” ในโครงการนี้แค่ 3 หมื่นล้าน
เป็นรัฐบาลที่มองเห็นอนาคต ดูผลลบเพื่อประเทศชาติที่ห่วยแตกสุดๆ เพราะจากเดิมที่ต้องคืนภาษี 3 หมื่นล้าน เพิ่มถึง 3 เท่าตัวกับรายได้จากการจัดเก็บภาษีเข้ารัฐเพื่อพัฒนาประเทศ แถม รมช.คลัง เพิ่งจะสั่งให้ 3 กรมเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ได้รับผลกระทบจากกการจัดเก็บรายได้ใน “โครงการประชาล่มจม”ไปทำการศึกษาว่า จะกระทบต่อรายได้รัฐเท่าไหร่
อย่างนี้เขาไม่เรียกว่า คิดใหม่ ทำใหม่ เขาเรียก สิ้นคิด ชาติพัง เพราะคาดว่ารวมแล้วทั้งหมดเกี่ยวกับประชานิยมอาจจะทำให้รัฐขาดรายได้และขาดทุนเข้าหลักล้านล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศ
โครงการรถคันแรก ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2555 มีผู้มาลงทะเบียนขอใช้สิทธิแล้วทั้งสิ้น 1.25 ล้านราย แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 7.39 แสนคัน รถกระบะ 2.58 แสนคัน รถยนต์นั่งที่มีกระบะ หรือดับเบิลแค็บ 2.57 แสนคัน โดยขณะนี้กรมสรรพสามิตได้จ่ายเงินให้แก่ผู้ที่ครอบครองรถยนต์คันแรกครบเวลา 1 ปีไปแล้วจำนวน 4.7 หมื่นราย คิดเป็นเงินภาษีรวม 3,481 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตประเมินว่า ในปีงบประมาณ 2556 จะต้องตั้งงบคืนภาษีรถยนต์คันแรกให้แก่ประชาชนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะต้องจ่ายเงินคืนประมาณ 7,500 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2557 คาดว่าจะต้องตั้งงบประมาณในการคืนภาษีรถคันแรกประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท และในปีงบประมาณ 2558 จะต้องตั้งงบประมาณจนครบจำนวนเงินที่ต้องคืนให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกทั้งหมด
จะเห็นได้ว่า เพียงโครงการนี้โครงการเดียวทำให้เกิดภาระผูกพันด้านงบประมาณไปถึงปี 2558 คิดเท่ากับวาระของรัฐบาลพอดิบพอดี
จากนั้นหาเสียงรอบใหม่อาจมีโครงการให้ “จำนำรถคันแรก” มารองรับกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจากหนี้เน่าที่เกิดจากโครงการนี้ ซึ่งล่าสุดทางธนาคารธนชาติเปิดตัวเลขว่ายอดหนี้เสียจากโครงการดังกล่าวในส่วนของธนาคารสูงถึง 50% เลยทีเดียว
สำหรับคนที่ได้เป็นเจ้าของรถใหม่ป้ายแดงก็คงจะดีใจพร้อมๆ ไปกับชื่นชมรัฐบาล แต่ถ้าคิดอย่างรอบด้านจะเห็นว่าเป็นโครงการที่ทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์รวมถึงคนที่ได้รถคันแรกด้วย เพราะเงินกว่า 9 หมื่นล้านบาท เราสามารถทำโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาด้านการจราจร ช่วยลดมลพิษ ดูแลประชาชนได้มากกว่า 1.3 ล้านรายที่ได้ประโยชน์เฉพาะตัวจากการนำภาษีประชาชนไปซื้อเสียงประชาชน
อีกนโยบายที่ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ กรรมของประเทศ คือ ค่าแรง 300 บาท ที่ดีเดย์ครบทุกจังหวัด 1 ม.ค. 56 นี้ ก็เลยประเดิมเริ่มต้นปีด้วยการประท้วงของกลุ่มพนักงานสตรีของบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ผลิตชุดชั้นใน ที่ตั้งอยู่เขตอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี กว่า 200 คน ที่ถูกลอยแพจากบริษัทหลังดำเนินธุรกิจมานานกว่า 10 ปี แต่ผลจากค่าแรง 300 บาทพ่นพิษทำให้ต้องปิดกิจการ ขณะที่ฉันทนากว่า 200 คนถึงคราวซวยเพราะตกงานโดยไม่ได้ค่าแรง 300 บาท และยังไม่มีใครเข้าไปดูแลให้คนเหล่านี้ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมตามกฎหมายอีกด้วย
นี่คือผลกระทบที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม และเชื่อได้เลยว่าจะมีปรากฏการณ์เช่นนี้อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีการคาดว่าอาจได้รับผลกระทบถึง 8 แสนราย และคนอาจตกงานถึงหลักล้านคน
หากผลวิจัยนี้เป็นจริง ไม่เพียงแค่เศรษฐกิจไทยจะมีปัญหาในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเกิดการฝืดเคือง ไม่รูดปรื๊ดๆ เหมือนที่รัฐบาลโฆษณาแล้ว ข้าวของก็จะแพงหูฉี่จากการขึ้นราคาแก๊สหุงต้มอีก 100 บาท จากราคาถัง 15 กิโลกรัม 300 เป็น 400 บาท ซึ่งหมายถึงว่าต้นทุนในการปรุงอาหารสุกจะเพิ่มขึ้นทันที
ข้าวแกงจากเดิมจานละ 25 ขึ้นมาเป็น 30-35 บาทในวันนี้อาจจะก้าวกระโดดไป 50 บาทในระยะเวลาอันใกล้นี้ แถมยอดคนตกงานจะพุ่งขึ้นด้วย ปัญหานี้ก็จะไปกระทบต่อสังคมคือทำให้เกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ในขณะที่ ธ.ก.ส.อยู่ในสภาพบักโกรกจากโครงการจำนำข้าว ซึ่งล่าสุดนายบุญไทย แก้วขันตี ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลผลิต 55-56 ล่าสุด สิ้นเดือนธันวาคม 2555 ทีผ่านมา ธ.ก.ส.มีการจ่ายเงินรับจำนำข้าวแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท ปริมาณข้าว 7 ล้านตัน เนื่องจากพบว่า มีข้าวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับความเสียหายไปจำนวนหนึ่ง ทำให้มองว่าปริมาณข้าวเปลือกนาปีที่เข้าโครงการน่าจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้จาก 15 ล้านตัน เหลือ 10 ล้านตัน
สำหรับวงเงินที่ใช้ไป 1 แสนล้านบาทนั้น ประมาณ 5 หมื่นล้านบาทเป็นเงินที่ได้รับจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ และอีก 5 หมื่นล้านบาทเป็นเงินที่ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อน ซึ่งหากคิดลงลึกในรายละเอียดจะพบว่าประเทศชาติเสียหายกับโครงการนี้มากเกินกว่าประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับ เพราะรั่วไหลไปกับการทุจริตถึง 70% แต่เป็นภาระที่รัฐต้องนำภาษีไปชำระหนี้เงินกู้เฉพาะโครงการจำนำสินค้าเกษตรปี 54-55 ที่ผ่านมา ในวงเงิน 2.69 แสนล้านบาทนั้น ก็ต้องเสียดอกเบี้ยประมาณปีละ 7 พันล้านบาท จากการกู้เงินผ่านสถาบันการเงินต่างๆ ในอัตราดอกเบี้ย 3% ซึ่งรัฐบาลต้องตั้งงบประมาณมาชำระคืนในแต่ละปี
สุดท้ายก็ภาษีคนไทยใช่ไหมที่ถูกเอาไปผลาญเพื่อคะแนนเสียงทางการเมือง เชื่อเถอะว่าแม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะเลือกรักษาอำนาจก่อนช่วยพี่ชายนักโทษด้วยการชะลอการรื้อ รธน. และ กฎหมายนิรโทษกรรมออกไปก่อน
แต่สุดท้ายเงื่อนตายที่รัฐบาลผูกไว้จนทำให้อายุสั้นนั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่เรื่องการเมืองที่ยืดหยุ่นได้ตามความลื่นไหลของผู้นำ แต่เป็นความตึงตัวทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดจาก “นโยบายประชาล่มจม” จะพ่นพิษในปีงูเล็กนี้