ประธานวุฒิสภา เผย ชง ปธ.สภา นำญัตติรายงาน กมธ.สามัญ 5 ฉบับ เข้าสภา ยันไม่ร่วมสังฆกรรมเรื่องที่สร้างความขัดแย้ง แต่หนุนประชามติ เชื่อ แก้ รธน.มีปะทะบ้าง แต่ไม่แรง ย้ำ ส.ว.เป็นอิสระ ขอเสนอตัวไกล่เกลี่ยปม คาดปีใหม่มีสิ่งดีๆ เกิด แนะยึดพระราชดำรัสในหลวง
วันนี้ (30 ธ.ค.) นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทการทำงานของวุฒิสภาในปี 2556 ว่า เนื่องจากอยู่ในระหว่างสมัยประชุมสามัญ นิติบัญญัติ วุฒิสภาก็มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาทั้งในเรื่องกฎหมาย กระทู้ถาม รายงานซึ่งคณะกรรมาธิการสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว 5 ฉบับ และญัตติอีก 5 เรื่อง ซึ่งตนได้นำเรียนเรื่องดังกล่าวเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ที่ประชุมรัฐสภามีมติให้นำญัตติทั้งหมดเข้ามาประชุมในสมัยนิติบัญญัติได้
ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ก็มีแนวทางตามที่วุฒิสภาได้แสดงความเห็น คือ 1.การเดินหน้าลงมติวาระ 3 ซึ่งหากเลือกแนวทางนี้ แน่นอนว่า ต้องมีผู้ที่ออกมาต่อต้าน และนำไปสู่การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 2.การทำประชามติก่อนเดินหน้าลงมติวาระ 3 ซึ่งกรณีนี้ก็มีหลายฝ่ายอออกมาแสดงความกังวลว่า อาจมีประชาชนเดินทางมาลงคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แต่ก็เป็นหน้าที่ของส่วนราชการที่ต้องทำงานให้หนักขึ้นในการประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าในให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ และ 3.การแก้รัฐธรรมนูญ รายมาตรา ซึ่งหากเป็นแนวทางนี้รัฐบาลก็ต้องมีแนวทางในการแก้ไขมาตราที่มีปัญหาร่วมกัน และต้องมีการแก้เท่าที่จำเป็น อะไรที่เป็นจุดอ่อนที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งก็ต้องแก้ แนวทางนี้แม้มีผู้ที่ออกมาต่อต้านหรือมีสมาชิกขอแปรญัตติมากเช่นเดียวกับตอนที่แก้ไขรัฐธรรมมาตรา 291
นายนิคม กล่าวว่า อย่างไรก็ดีทั้ง 3 แนวทางรัฐบาลก็ต้องเลือกดูว่าแนวทางใดจะส่งผลกระทบน้อยที่สุด ในส่วนของวุฒิสภา ก็ขอร่วมสร้างในการสร้างความสงบให้สังคม ยืนยันว่า จะไม่ร่วมสังฆกรรมในเรื่องที่มีความขัดแย้ง ทั้งนี้ตนยืนยันว่าการทำประชามติสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา165(1) เพราะเป็นกรณีที่เกิดปัญหาของคนในชาติ แม้พรรคเพื่อไทยจะบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของพรรค แต่นโยบายดังกล่าวก็เป็นนโยบายที่ใช้บริหารประเทศด้วยเช่นกัน เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นพรรครัฐบาล
เมื่อถามว่า หากมีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ นายนิคม กล่าวว่า ก็อาจจะมีขัดแย้งบ้าง แต่เชื่อว่าไม่น่าจะนำไปสู่การล้มล้างกัน เพราะตนเชื่อว่าทุกคนน่าจะคิดได้ว่าส่วนใดเป็นส่วนดีและส่วนใดเป็นส่วนเสียของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
ส่วนกรณีการแถลงครบรอบ 1 ปี ผลงานรัฐบาล ซึ่งตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดว่ารัฐบาลจะต้องมีการแถลงผลงานเมื่อครบ 1 ปี แต่ตามกฎหมายไม่อนุญาตให้พิจารณาญัตติในสมัยสมัญนิติบัญญัตินั้น นายนิคม กล่าวว่า เรื่องนี้ตนเห็นว่า เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งประชาชนน่าที่จะได้รับรู้ จึงมีมติให้เสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อขอมติเห็นชอบโดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา
“บทบาทวุฒิสภาในปี 2556 นั้น ผมยืนยันว่าจะเป็นสภาที่มีความอิสระ เป็นกลาง ไม่สังกัดพรรคการเมือง จะยืนอยู่บนความถูกต้อง เพื่อลดความขัดแย้งของคนในชาติ และจะทำให้คนที่เห็นต่างหันหน้าเข้าหากันด้วยเหตุผล แม้ ส.ว.จะมีความเห็นที่แย้งกันบ้าง แต่ตราบใดที่พวกผมยังทำหน้าที่ ไว้ใจได้ว่าพร้อมที่จะเสนอตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อลดความขัดแย้งในสังคม” นายนิคม กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประธานวุฒิสภา กล่าวอวยพรปีใหม่ประจำปี 2556 ว่า เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2556 ซึ่งหลายฝ่ายวิตกกังวล ว่า จะเป็นปีที่มีความยุ่งยากวุ่นวายเกิดขึ้นในสังคม แต่ตนมองว่า ปีนี้จะเป็นคุณและมีสิ่งดีดีเกิดขึ้นในประเทศ ตนขอให้ยึดพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ที่ทรงเน้นย้ำในเรื่องความเมตตา ตนเห็นว่า ถ้าบ้านเมืองมีความเมตตา ปรารถนาดีให้กัน ปัญหาความรุนแรงของบ้านเมืองก็จะลดลง นอกจากนี้ ตนอยากเห็นวัฒนธรรมไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติกลับมาอีกครั้ง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้ภาพรวมเรื่องเศรษฐกิจดีขึ้น ชาวต่างชาติก็จะเชื่อถือมากขึ้น เพราะฉะนั้นในปี 2556 อยากเห็นคนในชาติเดินไปด้วยกัน เพื่อทำให้สังคมเกิดความสงบสุข และขอให้ประชาชนทุกคนมีความสุขตลอดปี 2556