“บัญญัติ” เผยกลางที่ประชุม ส.ส.ปชป. กังวลประชามติแก้ รธน. รัฐบาลชี้นำ ส่อใช้เงินซื้อเสียงเพื่อให้ได้ 24.7 ล้านเสียงตามเป้า สวมบทพ่อหมอเชื่อ “โหรบุญเลิศ” อาจเกิดเหตุร้ายแรง ส่งผลยุบสภากลางปี 3 ปัจจัย ทั้งกรณีคดีเสื้อแดง กรณีทำร้ายร่างกาย “ราเมศ” เปรียบยุค “เผ่า ศรียานนท์” และแก้ รธน.เอื้อประโยชน์ “ทักษิณ” เชื่อข่มขู่ ขรก.-กำนัน-ผู้ใหญ่บีบขนชาวบ้าน รวมทั้ง ส.ส.ทำตามแลกกับลงเลือกตั้งสมัยหน้า
วันนี้ (25 ธ.ค.) นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุม ส.ส.พรรค ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงท่าทีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล โดยได้แสดงความกังวลเรื่องการทำประชามติที่รัฐบาลมีท่าทีจะมีการชี้นำ เพื่อให้ประชาชนเห็นด้วยกับการทำประชามติในครั้งนี้ และพยายามให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เกิน 24.7 ล้านเสียง หรือกึ่งหนึ่ง ซึ่งโดยหลักการจะต้องไม่มีการชี้นำ
โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งคำถามถึงการจัดเวทีสานเสวนากลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข เช่น กลุ่ม ส.ส.ร.ที่แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญปี 50 จะต้องออกมาวิจารณ์รัฐบาลที่ไปประกาศชัดว่าร่างเพื่อรับใช้รัฐบาลเผด็จการในเวลานั้น ทั้งที่มีเจตนาเพื่อป้องกันอุดช่อวงว่างรัฐธรรมนูญปี 40 ที่มีส่วนทำให้การทุจริตง่าย ทางรัฐบาลจะรับเสียงวิจารณ์กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอย่างไร และการออกมาแสดงความเห็นรัฐบาลแบบพูดความจริงครึ่งเดียว เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่อ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เพื่อช่วยเหลือคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะมีการจำหน่ายหน่ายคดีไปแล้วไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงคือเป็นการจำหน่ายชั่วคราวเพราะมีการหลบหนีคดี เช่น คดีหวยบนดิน เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ให้พม่า หรือคดีสัมปทานมือถือ
นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า จะมีการใช้เงินซื้อเสียงประชามติเหมือนการซื้อเสียงเลือกตั้ง เพราะมีความพยายามรณรงค์ให้ออกมาใช้เสียงกันมากๆ กระบวนการรณรงค์ชักจูงเหล่านี้ไม่ต่างจากเลือกตั้ง ที่มีการใช้เงินจำนวนไม่น้อยจากนอกระบบ กรณีนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่มีโอกาสเปิดช่องให้มีการซื้อเสียง ให้ประชาชนออกมาโหวตให้ได้ตามที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการ จะมีการป้องกันละรับประกันได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะดูจากท่าทีของกระทรวงมหาดไทยที่มีคำสั่งไปยังองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปทำการรณรงค์ โดยตั้งเป้าว่าแต่ละหมู่บ้านต้องได้จำนวนนั้นเท่านี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าขบวนการเหล่านี้ต้องมีการใช้เงิน แม้ไม่มีการห้ามไม่ให้ขนคนไปทำประชามติ แต่ถ้าไม่ทำแบบนี้คนไม่ออกไปอยู่แล้ว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมนายบัญญัติได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การเมืองปีหน้าว่าจะสุ่มเสี่ยงเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงทางการเมือง ตามที่นายบุญเลิศ ไพรินทร์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ที่ได้ทำนายเหตุการณ์การเมืองในปีหน้าจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่เน้นประชานิยม การสร้างภาระหนี้สินต่างๆ ที่อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองถึงขั้นอาจจะมีการยุบสภา ในช่วงกลางปี หรือเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง โดยสาเหตุที่สะท้อนให้เห็น 3 เหตุการณ์ คือ 1. การมุ่งประเด็นโยนความผิดเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมในปี 53 ที่ก่อให้เกิดการสูญเสีย 98 ศพ ว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ที่ต้องรับความผิด ทั้งที่รู้ว่าในแง่ของกฎหมายและการต่อสู้คดีในชั้นศาลไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่มีกฎหมายรองรับ แต่รัฐบาลยังใช้เป็นเครื่องมือโดยการออกข่าวผ่านสื่อต่างๆ เพื่อทำลายชื่อเสียงและตีกินพื้นที่ข่าวสร้างความสับสนในเรื่องนี้
2. กรณีของนายราเมศ รัตนะเชวง ทนายความของพรรคที่ถูกตีหัวหมายเอาชีวิตจนบาดเจ็บสาหัส แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้กำลังย้อนไปสู่ยุค พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ที่ถือคติที่ว่าไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ด้วยการข่มขู่ประชาชนต่างๆ นานา และ 3. กรณีปมใหญ่ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลกำลังรณรงค์อ้างคำว่าประชาธิปไตย โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่ผ่านมาก็มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ปัญหามาได้ตลอด ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์คนไทยว่าจะออกมาทำประชามติให้มีการแก้ไขหรือไม่ เพราะรัฐบาลมีพฤติกรรมชัดเจนว่าจะมุ่งทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ
นอกจากนี้ การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่เขาใหญ่ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าคนเสื้อแดงและ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เป็นคนเนื้อเดียวกันแล้ว เพราะแกนนำเสื้อแดงบอกให้โหวตวาระ 3 ไปเลยไม่ต้องทำประชามติ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบอกให้ทำประชามติให้ถูกต้องขั้นตอนตามที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เพราะรู้ว่าถ้าไม่ทำจะมีคนไปยื่นฟ้องศาล ทำให้เสียเวลาในการกลับบ้าน และ พ.ต.ท.ทักษิณยังเชื่อว่าจะสามารถระดมเสียงให้คนออกมาใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนด คือเกิน 24.7 ล้านเสียง เพราะถือว่ามีอำนาจรัฐอยู่ในมือ
ทั้งนี้ ที่สุดแล้วก็จะมีการข่มขู่ข้าราชการประจำ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการ จะต้องเกณฑ์ระดมคนมาให้เกิน 60-70 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละพื้นที่ คือทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดที่มีอยู่ หากไม่เข้าเป้าก็จะมีการโยกย้ายเหมือนกับที่เคยทำมาในยุค พ.ต.ท.ทักษิณที่ตีแตกข้าราชการ ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงต่างๆ อีกทั้งยังมี ส.ส.ในพื้นที่ทุ่มเทสรรพกำลังในการระดมคนออกมาทำประชามติ อิงแอบไปกับผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ เช่นถ้าพื้นที่ไหนไม่เข้าเป้า ครั้งหน้าไม่ส่งลงเลือกตั้ง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นตัวทวีให้เดินไปสู่ความขัดแย้ง จะมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมารวมตัวกันเหมือนปรากฏการณ์ม็อบเสธ.อ้าย ที่ผ่านมา