“เรืองไกร” เจ้าเก่า ยื่นดีเอสไอสอบ “สดศรี” แสดงความเห็นตามข้อกฎหมายช่วย “มาร์ค” บริจาคเงินเข้าพรรค 2 หมื่นบาทโดยหักบัญชีเงินเดือน ส.ส.ไม่ผิด
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กล่าวว่า ตนได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้พิจารณาดำเนินการสอบสวน นางสดศรี สัตยธรรม คณะกรรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อประเด็นที่ได้ออกมาแสดงความเห็นถึงถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง จากกรณีบริจาคเงินเข้าพรรคประชาธิปัตย์เกิน 20,000 บาท โดยจ่ายเป็นเงินสด ซึ่งตามกฎหมายให้ทำเป็นเช็คขีดคร่อมว่า กรณีนี้สามารถทำได้ ถึงแม้จะจ่ายเป็นเงินสดหรือการหักเงินจากบัญชีส.ส.ของพรรคนั้น ก็สามารถทำได้ เพราะการถอนเงินสดหรือหักบัญชีเงินเดือนส.ส. ก็ต้องไปผ่านวิธีการทางธนาคาร เพื่อถอนเงินออกมา ซึ่งตรงนี้ก็จะมีหลักฐานในการถอนเงิน หรือหลักฐานทางธนาคารให้เห็นอยู่แล้ว เพื่อแจ้งมายัง กกต. ให้รับทราบ พร้อมทั้งเผยแพร่รายชื่อว่าใครบริจาคเงินให้พรรคบ้างในแต่ละเดือน ซึ่งกรณีนี้ กกต. ก็สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ตามกฎหมายพ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 57 ที่ระบุว่า หากบริจาคเงินเข้าพรรคเกิน 20,000 ต้องทำเป็นเช็คขีดคร่อมนั้น เพราะกฎหมายอยากให้มีหลักฐานแสดงการได้มาของเงินให้ชัดเจนเพื่อตรวจสอบได้ก็เท่านั้น
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า การแสดงความเห็นของนางสดศรีนั้น เกิดขึ้นภายหลังจากที่ ดีเอสไอ ได้แจ้งข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ ว่า บริจาคเงินให้พรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป โดยไม่ได้ปฏิบัติตามวิธีการที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 57 วรรคสอง บัญญัติไว้ ซึ่งมาตรา 114 ได้บัญญัติโทษกรณีการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 57 เอาไว้ ดังนั้น การที่นางสดศรี ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการบริจาคเงินของนายอภิสิทธิ์ว่า ไม่ได้ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. พรรคการเมือง จึงไม่ถูกต้องและไม่ใช่หน้าที่ และย่อมเป็นการกระทำที่อาจเข้าลักษณะเป็นผู้สนับสนุนตามความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ซึ่งบัญญัติว่า
“ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้อง ระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่ สนับสนุนนั้น”
และอาจเข้าลักษณะผิดต่อระเบียบ กกต. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของกรรมการการเลือกตั้งฯ พ.ศ.2551 ข้อ 4 (6) ที่กำหนดไว้ว่า “ ข้อ 4 กรรมการการเลือกตั้ง ฯ ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดมั่นในมาตรฐานจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก 9 ประการ ดังนี้ ...(6) การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และไม่เลือกปฏิบัติ
“การแสดงความเห็นของนางสดศรีนั้น อาจอยู่บนข้อเท็จจริงที่ไม่ครบถ้วน และอาจเป็นการกระทำที่ส่อไปในลักษณะที่จะสนับสนุนหรือช่วยเหลือให้นายอภิสิทธิ์ ไม่ต้องรับผิดตาม พ.ร.บ. พรรคการเมือง”