“อุดมเดช” เผยฝ่ายค้านขอ 30 ชม.ซักฟอก รบ.ขอ 12 ช.ม. ปัดตั้งองครักษ์ ไม่หนุนประท้วง พร้อมถกขยายเวลาหากเกิน เตรียมคุยครม.หลังส.ว.ขอซักฟอกเพิ่ม ชี้เป็นสิทธิแต่ต้องดู ครม.ว่างหรือไม่ ครวญช่วงนี้ รบ.งานเพียบ หลุดปาก 24 พ.ย.มีม็อบไม่อยากมาสภา สงสัยอภิปรายสอดคล้องการชุมนุม
วันนี้ (19 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลถึงการรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เบื้องต้นได้ตกลงกับฝ่ายค้านไว้ที่ได้ขอใช้เวลา 30 ชั่วโมงในการอภิปราย ซึ่งรัฐบาลก็จัดให้ตามนั้น ส่วนของรัฐบาลก็จะมีเวลาในการชี้แจง 12 ชั่วโมง ตรงนี้เป็นข้อตกลงที่ยอมรับกันทั้งสองฝ่าย โดยทางฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่าจะไม่มีการตั้งทีมองครักษ์ แต่จะให้เป็นหน้าที่ฝ่ายบริหารทำหน้าที่ชี้แจง ทั้งนี้ ประธานที่ประชุมมีหน้าที่ควบคุมการอภิปราย ถ้าหากสามารถควบคุมไม่ให้มีการพูดพาดพิงไม่ให้ผู้อื่นเสียหาย หรือเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม คงไม่มีช่องทางให้มีการประท้วง ทั้งนี้จะไม่มีการเพื่อเวลาสำหรับการประท้วงไว้ เพราะทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่สนับสนุนการประท้วง แต่กรณีมีผู้ใช้ประท้วงก็ต้องมาบริหารเวลาในส่วนที่เหลือ
“วันแรกและวันที่สอง (วันที่ 25-26 พ.ย.) จะเริ่มเวลา 09.00-23.00 น. ส่วนวันสุดท้าย (27 พ.ย.) จะเริ่มเวลา 09.00 น. และเลิกไม่เกินเที่ยงคืน เพื่อนัดลงมติในวันที่ 28 พ.ย. แต่หากมีกรณีไม่คาดฝันคือใช้เวลาเกินเลยไป คือใช้เวลาประท้วงพาดพิงไปมากก็ต้องพิจารณาขยายเวลาปิดประชุมในแต่ละวัน โดยเฉพาะในวันที่ 27 พ.ย.คือวันที่สองของการอภิปรายอาจต้องมาบริหารจัดการ” นายอุดมเดชระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ล่าสุดในส่วนของวุฒิสภาได้บรรจุวาระการอภิปรายรัฐบาลโดยไม่ลงมติในวันที่ 23-24 พ.ย.หรือไม่ นายอุดมเดชกล่าวว่า จากที่ได้ตรวจสอบดูตารางการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ได้เสนอความเห็นไปแล้วว่าเวลาที่สะดวกคือวันที่ 23 พ.ย. และ 28 พ.ย.เท่านั้น ซึ่งหากวุฒิสภาบรรจุเป็นวันที่ 23-24 พ.ย.จริงก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารที่จะพิจารณาอีกครั้ง แต่โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าควรที่จะเป็นวันที่ 28 พ.ย.อยู่ ส่วนที่มีข่าวว่าวุฒิสภาได้บรรจุระเบียบวาระไปแล้วก็ถือเป็นสิทธิของวุฒิสภา แต่ต้องเข้าใจด้วยว่ากระบวนการอภิปรายโดยไม่ลงมตินั้น จำเป็นต้องเชิญฝ่ายบริหารไปชี้แจงด้วย เมื่อฝ่ายบริหารติดภารกิจก็จะกลายเป็นการประชุมกันเองเหมือนอย่างทุกวันนี้ ขณะเดียวกันก็มีการขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บางทีไม่ได้ถามว่าเขาว่างหรือไม่ ฉะนั้นกระบวนการนี้รัฐบาลต้องชี้แจงว่าในวันดังกล่าวจะไปได้หรือไม่ได้
นายอุดมเดชกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ตนมีโอกาสหารือกับทางคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา โดยได้แจ้งถึงความจำเป็นของรัฐบาลที่มีภารกิจมากในช่วงนี้ ซึ่งเชื่อว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีพรุ่งนี้ (20 พ.ย.) อาจหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาว่าพอจะมีเวลาเพื่อที่จะให้ ส.ว.ได้ทำหน้าที่เพิ่มเติมได้หรือไม่
เมื่อถามว่ามีโอกาสที่จะเปิดให้อภิปรายวันที่ 24 พ.ย.หรือไม่ นายอุดมเดชกล่าวว่า ก็ต้องถามรัฐบาล พิจารณาวันที่เหมาะสมและภารกิจการแสดงออกทางความคิดตามกรอบรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ถ้าไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า วันที่ 24 พ.ย.ติดขัดอะไร นายอุดมเดช กล่าวทีเล่นทีจริงว่า “ก็ติดม็อบไง” ก่อนตอบว่า ตามปกติการทำหน้าที่ใดๆมักจะทำวันธรรมดาแต่คราวนี้เมื่อดูภารกิจของนายกฯมีช่วงเวลาที่ว่างในวันที่ 26-28 พ.ย. ซึ่งฝ่ายค้านคิดว่าไม่เพียงพอในการอภิปรายเพียง 2 วัน จึงขอขยับขึ้นมาเป็นวันที่ 25 พ.ย.ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ แต่เมื่อ ส.ว.ขอเวลาวันที่ 23-24 พ.ย.ซึ่งวันที่ 24 เป็นวันเสาร์มาอีก ก็ดูเหมือนมีความพยายามอะไรบางอย่างให้สอดคล้องกับการที่มีผู้ชุมนุมกำหนดวันไว้ 24-25 พ.ย.หรือไม่
เมื่อถามว่าต่อว่ามองว่า ส.ว.ต้องการให้สอดคล้องกับการชุมนุมหรือไม่ นายอุดมเดชกล่าวว่า มันมีส่วนทำให้คิดได้ ส่วนจะมีการปิดล้อมรัฐสภาหรือไม่นั้น ถือเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า การที่รัฐสภาเตรียมทำบันไดทางออกฉุกเฉินนั้นเพื่อให้เกิดความสะดวก และเป็นความรับผิดชอบของทางรัฐสภาที่ต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้าเท่านั้น