xs
xsm
sm
md
lg

“เติ้ง” สวน “โอ๊ค” ชี้ไม่น่าเป็นไปได้ลอบฆ่า “นช.แม้ว” เชื่อ รบ.จัดคิวซักฟอกได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (แฟ้มภาพ)
“บรรหาร” เชื่อวิปรัฐจัดสรรเวลาให้ฝ่ายค้าน-วุฒิสภาซักฟอกได้ ไม่ต้องขยายสมัยประชุม ไม่รู้ลอบฆ่า “นช.แม้ว” มีข้อมูลจริงหรือไม่ ชี้คิดถูกแล้วเลิกหมายท่าขี้เหล็ก แต่เชื่อไม่น่าเป็นไปได้ เผยวันนี้ ชทพ.โชว์ตัว “ยุคล” รมต.ใหม่ มอบนโยบายก้าวสู่อาเซียน-ภัยแล้ง-จำนำข้าว

วันนี้ (6 พ.ย.) ที่พรรคชาติไทยพัฒนา นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์กรณีที่จะมีการเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลของฝ่ายค้าน และการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ของวุฒิสภาว่า ขณะนี้ก็ใกล้ปิดสมัยประชุมแล้ว นายกฯ เองก็มีภารกิจล่วงหน้าที่จะต้องเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งทั้งฝ่ายค้านและส.ว.เองก็ยื่นอภิปรายกระชั้นชิด น่าจะยื่นก่อนตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. เชื่อว่ารัฐบาลคงจัดสรรเวลาให้ได้ดีกว่านี้ และการที่ ส.ว.มองว่าการอภิปรายแบบไม่ลงมติเพียงวันเดียวไม่พอนั้น คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องประสานกับรัฐบาล ถ้ามีเวลาพอจริงๆ รัฐบาลเองก็คงเพิ่มวันให้ แต่ไม่จำเป็นถึงขั้นต้องขยายเวลาสมัยประชุมสภาสามัญทั่วไป

ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีกระแสข่าวลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ว่าเป็นเรื่องที่มีข้อมูล แต่ก็ไม่รู้ว่ามีมูลจริงหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณก็ต้องระวังด้วย ซึ่งการยกเลิกกำหนดการเดินทางมาที่ จ.ท่าขี้เหล็กถือว่าคิดถูกแล้วเพื่อไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องยาก เราไม่รู้ว่าแหล่งข่าวมาจากไหนบ้าง และใครเป็นคนคิดให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ไม่มีทางตอบได้ แต่ส่วนตัวก็เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่น่าเกิดขึ้นและไม่น่าเป็นไปได้ด้วย

นายบรรหารยังกล่าวถึงการประชุมพรรควันนี้ว่าจะมีการแนะนำรัฐมนตรีใหม่ของพรรคชาติไทยพัฒนาต่อสมาชิก คือ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจะมีการมอบนโยบายสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะ 1. การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) 2. ปัญหาภัยแล้ง-การทำฝนเทียม และ 3. การรับจำนำข้าว โดยเดือน มี.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา เกษตรกรมีการทำนาปรัง ซึ่งควรเป็นนาปี และเมื่อผลผลิตออกมาก็ไม่รู้จะไปเก็บไว้ตรงไหนจึงเข้าโควตานาปรังพิเศษจำนวน 5 ล้านกว่าตัน ซึ่งตนก็ติดตามอย่างใกล้ชิดมาตลอด เพื่อให้ตัวเลขผลผลิตตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด และให้กระทรวงพาณิชย์สามารถรับทราบข้อเท็จจริงและออกมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้


กำลังโหลดความคิดเห็น