นายกฯ เผยสั่ง กบอ.ร่วม กปภ.ดูแหล่งน้ำจืดจังหวัดอ่าวไทย ให้คมนาคมดูถนนรองรับนักเที่ยว ระบุ ครม.เห็นชอบงบฯ ศึกษาเส้นทางเชื่อมโยงจังหวัดกลุ่มอ่าวไทย รวมสร้างสนามบินดอนสัก โยน สศช.แจงตัวเลข - รับ ผบ.ตร.เข้าพบแจ้งผลลงใต้ ชูทำงานเร็วขึ้น สั่ง “ยุทธศักดิ์-ประยุทธ์” ลงพื้นที่ 23 ต.ค. ยันจุดเสี่ยงไม่ใช่ทั้งหมด เผยเพิ่งอนุมัติอัตราอาสาฯ และตำรวจเพิ่ม พร้อมจุดตรวจร่วมเพิ่มด้วย แย้มถ้ามีจังหวะไปอยู่แล้ว
วันนี้ (22 ต.ค.) ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อเวลา 14.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ได้ไปสำรวจมีหลายๆ ส่วน ในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มนอกเหนือจากงบประมาณเร่งด่วนที่แต่ละจังหวัดขอโดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยมีความต้องการด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคที่ต้องมีการเชื่อมโยงกัน และอีกส่วนคือเรื่องของแหล่งน้ำที่ต้องการน้ำจืดเพื่อใช้ในการบริโภคซึ่งตรงนี้ได้สั่งการไปทั้งสองส่วน โดยการแก้ปัญหาเรื่องของน้ำจืด จะให้ทางคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. เข้าไปทำงานร่วมกับทางการประปาส่วนภูมิภาคในการรองรับกับส่วนของกรมชลประทาน ส่วนเรื่องของถนนได้ให้กระทรวงคมนาคมเข้าไปดูเรื่องการเชื่อมต่อด้านคมนาคม การขนส่ง ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวและดูแลประชาชนที่อยู่ใน 4 จังหวัดของอ่าวไทย ซึ่งอยากเห็นการศึกษาเรื่องการเชื่อมต่อทางฝั่งอ่าวไทยและอันดามันด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องการสร้างสนามบินดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี คณะรัฐมนตรีพิจารณาอย่างไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ได้พิจารณาเห็นชอบงบประมาณในการศึกษาเส้นทางคมนาคมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางอากาศ ทางเรือ เพื่อให้จังหวัดในกลุ่มอ่าวไทยมีการเชื่อมโยงกันและสามารถรองรับนำท่องเที่ยว ผลการศึกษาจะออกมาอย่างไรต้องรอการดำเนินการของกระทรวงคมนาคมเข้าไปศึกษาร่วมกับทางจังหวัดและคงจะชี้แจงกลับมาอีกครั้ง
เมื่อถามกรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติให้ในการพัฒนาสาธารณูปโภคทั้งหลายพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้อยู่วงเงินทั้งหมดเท่าไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะให้ทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้แจงตัวเลข เพราะจะมีกรอบของระยะยาวที่อยู่นอกกรอบด้วย เมื่อถามว่า การศึกษาเส้นทางคมนาคม เพื่อก่อสร้างโครงการสนามบินดอนสักใช้ระยะเวลาเท่าไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คงให้ทางกระทรวงคมนาคมประเมินพื้นที่ในเบื้องต้นก่อน เพราะบางส่วนมีข้อมูลเก่าอยู่แล้ว เราคงจะเอาข้อเก่านั้นเข้ามาพิจารณาและไปดูว่าจะปรับปรุงหรือศึกษาเพิ่มอย่างไร ซึ่งวันนี้ต้องดูเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวและประมาณการทิศทางเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลด้วย
นายกรัฐมนตรียังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าพบหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้รายงานถึงการลงพื้นที่ไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสียชีวิตและทีมงานที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการทำงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าทำงานได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ตนเองได้สั่งการไปแล้ว โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ศปก.กปต. และพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในวันอังคารที่ 23 ต.ค.นี้ เป็นการลงไปทำงานเพิ่มเติมและวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ
เมื่อถามถึงฤดูกาลท่องเที่ยวไทยจะมีผลกระทบหรือไม่ เพราะทางประเทศมาเลเซียประกาศเตือนประชาชนของเขาห้ามมาในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ของไทยถ้าไม่จำเป็น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเรียนว่าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะมีเพียงบางพื้นที่ ไม่ใช่ทั้งหมดของภาคใต้ ดังนั้นอยากให้ดูในส่วนตรงนั้นด้วย เพราะเรายังมีอีกหลายๆพื้นที่ ซึ่งยังมีความปลอดภัยอยู่ ขณะนี้เราได้เร่งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ลงไป โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติอัตราอาสาสมัครและและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะลงไปช่วยในพื้นที่ภาคใต้และวันนี้ได้อนุมัติการจัดตั้งจุดตรวจร่วมเสริมความปลอดภัยให้กับประชาชนด้วย ซึ่งคณะทำงานกำลังทำงานอยู่
เมื่อถามว่า นายกฯ จะมีจังหวะเวลาที่จะลงไปพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ด้วยตนเองเพื่อให้กำลังใจประชาชนในพื้นที่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ถ้ามีจังหวะไปอยู่แล้ว อย่างที่เรียนตนเองอยากไปอยู่แล้ว ซึ่งวันนี้ได้โทรศัพท์ติดตามสถานการณ์ การทำงานยังทำอย่างต่อเนื่องและได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ส่วนตัวเองถ้ามีโอกาสอยากไปอีกแน่นอนอยู่แล้ว
ด้าน น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรครั้งที่ 7 นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวให้ที่ประชุมทราบใน2เรื่องคือ 1. ได้แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงมีเหตุปะทะกัน โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในวันที่ 23 ตุลาคมนี้ เพิ่มเติมจากที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ที่ได้ลงพื้นที่และสร้างขวัญกำลังใจแก่ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเช้าวันนี้ (22 ต.ค.) แล้ว นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความชื่นชมในการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานกันอย่างเต็มที่
2. นายกฯ ได้สรุปผลการประชุมกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ที่ประเทศคูเวต โดยได้สรุปว่าทุกประเทศสมาชิกได้เห็นพ้องต้องกันในการส่งเสริมเศรษฐกิจ ลดปัญหาความยากจน การแก้ปัญหาภัยพิบัติ สร้างความมั่นคงอาหาร โดยจุดยืนของประเทศไทยที่ได้ประกาศในการประชุม คือ 1. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่จะใช้เวทีภูมิภาคในการส่งเสริมการค้า การลงทุน เพื่อที่จะรองรับเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน 2. เรื่องการเชื่อมโยงในอาเซียนและเอเชีย โดยไทยเสนอเป็นผู้ประสานงานในจุดที่ต้องการความเชื่อมโยง ในฐานะที่ไทยมีบทบาทสูงในการประชุมเอซีดี ที่มีบทบาทในการประสานและได้รับความชื่นชมจากประเทศทั้งหลาย 3. เรื่องความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ซึ่งประเทศเป็นจุดแข็งของอาเซียนที่มีความมั่นคงทางด้านอาหาร ทั้งนี้ไทยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการประชุมเอซีดีปี พ.ศ. 2558 ด้วย พร้อมกันนี้นายกฯยังเล่าให้ที่ประชุมฟังว่าการประชุมที่ประเทศคูเวต ได้เสนอให้ประเทศไทยตั้งกองทุนเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ความยากจน และความมั่นคงทางอาหารของประเทศในเอเชีย โดยประเทศคูเวตเสนอจะมอบเงินจำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐในการจัดสรรให้ลงในธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) โดยมีไทยเป็นผู้ประสานงานในการขอรับการสนับสนุน
น.ส.ศันสนีย์กล่าวว่า นอกเหนือจากการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียไประเทศไทยยังได้มีโอกาสเจรจาทวิภาคีกับประเทศคูเวต ปากีสถาน อิหร่าน ศรีลังกา และทาจิกิสถาน โดยในประเทศคูเวตนั้นได้หารือในเรื่องท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การส่งเสริมการลงทุนในไทย และการแก้ปัญหาภาคใต้ ซึ่งประเทศคูเวตมีบทบาทอย่างมากในการประชุมองค์การการประชุมอิสลาม(โอไอซี) ส่วนประเทศปากีสถานได้หารือในประเด็นอุตสาหกรรมรถยนต์ อัญมณี โครงสร้างพื้นฐาน และความมั่นคงทางอาหาร ประเทศอิหร่านได้หารือการค้าบาเตอร์เทรด ประเทศศรีลังกาหารือในประเด็นพระพุทธศาสนา เนื่องจากปีหน้าประเทศศรีลังกาครบรอบ260ปี การตั้งนิกายสยามวงศ์ ทั้งนี้นายกฯได้มอบให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายก และนางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ให้ประสานงานกับประเทศศรีลังกา พร้อมกันนี้จะประสานงานเรื่องโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ประเทศศรีลังกาสนใจด้วย ส่วนประเทศทาจิกิสถานนั้นได้หารือเรื่องการท่องเที่ยว และการช่วยเหลือในการประชุมโอไอซี