“บุญยอด” ชี้ กทค.ไม่มีอำนาจลงมติออกใบอนุญาต 3 จี ยันกฎหมายระบุต้องเป็นบอร์ด กสทช.เท่านั้น ขู่ถ้าไม่ทบทวนจัดประมูลให้โปร่งใสจะล่าชื่อ ส.ส.-ส.ว.ร้องประธานวุฒิฯ ขับพ้นเก้าอี้แน่
วันนี้ (19 ต.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่ กทค.จะออกใบอนุญาตสัญญาสัมปทานคลื่น 3จี ให้ 3 บริษัทที่ประมูลได้ว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2552 เห็นว่าการประมูลคลื่น 3จี ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ซึ่งเป็นเพียงคณะกรรมการชุดเล็กในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่มีอำนาจในการลงมติออกใบอนุญาตการให้สัมปทานดังกล่าว เพราะในรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 47 วรรค 2 ระบุว่า “ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ ตามวรรค 1 และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนด” อีกทั้งเมื่อดูตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวในมาตรา 24 ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของบอร์ดชุดใหญ่ที่มี 11 คน คือ กสทช. และบอร์ดชุดเล็กคือ กสท และ กทค.ชุดละ 5 คน ที่แยกเป็นสองขาตามภารกิจหน้าที่ในกิจการทั้งสองด้าน คือ บอร์ด กสท ที่ดูแลกิจการด้านวิทยุและโทรทัศน์ ส่วนบอร์ด กทค.ที่ดูแลงานด้านกิจการโทรคมนาคม โดยมาตรา 24 ระบุให้ การปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. กสท และ กทค.ในเรื่องใดที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะต้องทำโดยมติของที่ประชุม และต้องเปิดเผยรายงานการประชุมและการลงมติทั้งรายบุคคลและทั้งคณะให้สาธารณชนทราบ
นายบุญยอดกล่าวต่อว่า เมื่อดูเจตนารมณ์และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วจะเห็นว่า การประมูลคลื่น 3จี เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลประโยชน์ของชาตินับหมื่นถึงแสนล้านบาทการที่จะให้บอร์ดชุดเล็กอย่าง กทค.ซึ่งเป็นครึ่งของของบอร์ด กสทช.ทำหน้าที่พิจารณาในเรื่องที่ใหญ่และมีผลประโยชน์จำนวนมหาศาลเช่นนี้ จึงไม่เพียงพอ อีกทั้งมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.เดียวกันนี้ยังกำหนดภารกิจ อำนาจหน้าที่ของบอร์ด กสทช.ไว้ถึง 25 กรณีซึ่งรวมถึงการอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ทั้งวิทยุ โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมที่ระบุชัดเจนใน (4) ของมาตรานี้ ดังนั้น การที่บอร์ด กทค.มีมติออกมาจึงไม่เพียงพอกับการพิจารณาในผลประโยชน์ที่รัฐควรจะได้ จึงควรที่ต้องกลับไปขอมติจากบอร์ด กสทช.ทั้งคณะในการอนุญาตจึงจะตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.นี้ ซึ่งคณะกรรมการ กสทช.ทุกคนจะปฏิเสธอำนาจหน้าที่ในกรณีนี้ไม่ได้ และหากไม่มีการทบทวนหรือจัดการประมูลที่โปร่งใส ไร้ข้อครหาที่สาธารณชนเคลือบแคลงได้ ตนจะรวบรวมรายชื่อ ส.ส.หรือ ส.ว.ให้ได้ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสมาชิกแต่ละสภาเพื่อร้องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้มีมติให้ กสทช.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะต่อไป
นายบุญยอดกล่าวต่อว่า หาก กสทช.เปิดตาเปิดหูรับฟังเสียงวิจารณ์และข้อสงสัยของสังคมในเวลานี้ก็จะพบว่า มีการตั้งคำถามว่ามีการฮั้วกันหรือไม่ เพราะผู้ประมูลมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนสินค้า มีคำถามมากมายว่าเหตุใด กสทช.จึงจัดการประมูลคลื่น 3จี ที่มี 9 ช่องสัญญาณ เหตุใด กสทช.จึงไม่จัดการประมูลแบ่งซอยทีละช่องสัญญาณให้กับผู้ประมูล 3 ค่าย เพราะคลื่น 3 จีเป็นที่ต้องการและใครได้ไปก่อนก็สามารถทำการตลาดให้บริการประชาชนได้ อีกทั้งสามารถสร้างรายได้เข้ารัฐได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ดีกว่าขายประมูลขายสินค้าดีๆ แบบเหมายกเข่งเหมือนการประเคนให้ จึงเรียกร้องขอให้ทบทวนหรือยกเลิกการประมูลในครั้งนี้ เพราะภาควิชาการหลายฝ่ายต่างระบุว่าอาจเข้าข่าย พ.ร.บ.ฮั้วประมูล และผิดหลักการประมูลทั่วไปที่ทำกัน